งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหลักกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่ปรากฏในละครโทรทัศน์ เฉพาะกรณีเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ที่ออกอากาศระหว่างวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ถึง ๒ มกราคม ๒๕๔๔ เพื่อวิเคราะห์ว่าการนำเสนอเรื่องกรรมและกฎแห่งกรรม ถูกต้องตรงตามหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่ ละครช่วยให้ผู้ชมเกิดความรู้ความเข้าใจในหลักกรรม และมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตหรือไม่ เพียงใด วิธีดำเนินงานการวิจัยมี ๒ วิธีคือ การวิจัยเชิงคุณภาพ และวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิกฎ อรรถกถา ตำรา และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การวิจัยเชิงปริมาณ ศึกษาความรู้ ความเข้าใจ แนวความคิดความเชื่อ ในเรื่องของกรรมและกฎแห่งกรรม โดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างผู้ชมละครโทรทัศน์เรื่องเจ้ากรรมนายเวร ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ๑๐๐ คน ต่างจังหวัด ๑๐๐ คน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และศึกษาหาข้อมูลจากกลุ่มผู้ผลิตละครโทรทัศน์เรื่องเจ้ากรรมนายเวร โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงเจาะลึก สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
๑. กลุ่มตัวอย่างมีความรู้พื้นฐานทั่วไปในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และในเรื่องของกรรมและกฎแห่งกรรมโดยภาพรวม อยู่ในระดับดียืนยันในหลักคำสอนที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
๒. ละครช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกรรมและกฎแห่งกรรม ตามหลักพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น
๓. แนวความติดและวิถีชีวิตหลังจากชมละคร เปลี่ยนแปลงไปในทางดีคือ คิดดี พูดดี และทำความดียิ่งขึ้น ด้วยเกรงกลัวบาป
๔. กลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๙๐ มีความเห็นว่า ควรจัดสร้างละครโทรศทัศน์ที่ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแกนของเรื่อง ให้มากกว่านี้ โดยให้เหตุผลว่า โทรทัศน์เป็นสื่อสารมวลชนที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย รวดเร็ว ทุกเพศทุกวัย และทุกพื้นที่ ละครโทรทัศน์จึงจัดว่าเป็นเครื่องมือในการเผบแผ่หลักธรรมอย่างได้ผลประการหนึ่ง
|