บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative research)ใช้วิธีการเชิงพรรณนา(Descriptive method)โดยวิธีการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์ พระไตรปิฎก อรรถกถา ตำรา เอกสาร กรณีศึกษา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเชิงลึก โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑)เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดและกระบวนการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีในระบบสาธารณสุขของไทยและตะวันตก (๒)เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดและกระบวนการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธวิธีในสมัยพุทธกาล (๓)เพื่อพัฒนารูปแบบพุทธวิธีในการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยเชิงพุทธบูรณาการ
ผลการวิจัย ได้รูปแบบพุทธวิธีการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุข และเป็นรูปแบบที่เหมาะสมนำมาใช้ในระบบสาธารณสุขของไทย โดยผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นจากการบูรณาการแนวคิดและกระบวนการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขทางตะวันตกกับแนวคิดและกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยพุทธวิธี ในการบูรณานั้นผู้วิจัยได้วิเคราะห์ทบทวนแนวคิดทฤษฎี กระบวนการ วิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ ของทั้งสองแนวคิดผ่านกรณีตัวอย่าง ปรากฏผลดังต่อไปนี้
แนวคิด และกระบวนการการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขตามแนวคิดตะวันตก ให้ความสำคัญกับ (๑)การวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งจาก 5 สาเหตุในวงกลมความขัดแย้ง คือ ความขัดแย้งอันเนื่องจาก โครงสร้าง ข้อมูล ความสัมพันธ์ ค่านิยมและผลประโยชน์ (๒)กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถใช้ในการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดข้อตกลงที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายพึงพอใจกับผลประโยชน์ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ สามารถยุติปัญหาการฟ้องร้องต่อกันได้ แต่พบว่า ความสัมพันธ์ ความไว้วางใจและการกลับมาใช้บริการระหว่างกันอีกยังต้องใช้เวลาหรืออาจไม่กลับคืนมา ทั้งนี้หลักสำคัญของแนวคิดและกระบวนการที่ใช้ในการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยและประเทศทางตะวันตกนั้นเป็นแนวเดียวกัน กล่าวคือ ๑) แนวคิดในการเข้าใจความขัดแย้ง กรณีศึกษาส่วนใหญ่ในทางการแพทย์และสาธารณสุขยึดถือการวิเคราะห์สาเหตุตามวงกลมความขัดแย้งดังกล่าวแล้วเป็นหลัก ๒)กระบวนการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันคือ การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ซึ่งจะมองไปที่วงจรปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีเป็นสำคัญ ๓)ยึดวิธีการและเครื่องมือในการจัดการปัญหาบนฐานของผลประโยชน์ร่วมกันเป็นทางออกให้เกิดข้อตกลงเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง
ขณะที่แนวคิดการจัดการความขัดแย้งด้วยพุทธวิธีประกอบด้วยหลักสำคัญสองประการคือ(๑)เข้าใจหลักการของการแก้ปัญหาแบบพุทธ (๒)เข้าใจการประยุกต์พุทธธรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา สำหรับหลักการแก้ปัญหาแบบพุทธ ประการแรกด้านแนวคิด พระพุทธเจ้าทรงให้แก้ปัญหาที่เหตุปัจจัย ประการที่สองด้านกระบวนการและวิธีการคือ ให้มองที่ตัวเองจากภายใน และแก้ที่ตัวเอง พระองค์ทรงชี้ว่าต้องลงมือแก้ด้วยความเพียรและตามเหตุปัจจัย ส่วนพุทธธรรมนั้นให้นำมาใช้เป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาให้สำเร็จ ทั้งนี้พุทธวิธีเป็นทั้งการแก้ปัญหาทั้งภายนอกและภายในตัวมนุษย์ อย่างไรก็ตามคำสอนที่เป็นการสร้างปัญญาหรือพัฒนาจิตหรือแก้ปัจจัยภายในจะมีมากกว่าคำสอนที่ตอบสนองต่อการแก้ปัจจัยภายนอก เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ ปัญหาทางจิตใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวมนุษย์ล้วนๆ คือไม่ว่าจะต่างยุคสมัยต่างเวลาธรรมชาติของมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม มีรัก โลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ เช่นเดิม ประกอบกับเรื่องการแก้ปัญหาภายในจิตมนุษย์นั้นได้รับการเอาใจใส่จากวิทยาการแต่ละยุคสมัยน้อย พระพุทธเจ้าเห็นว่าปัญหานี้ต้องเอาใจใส่มากกว่า และเป็นเรื่องลึกซึ้งเข้าใจยาก ที่สำคัญ จิต-ปัญญาเป็นแก่นสารเนื้อแท้ของชีวิตมนุษย์ จึงต้องศึกษาและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นเมื่อนำแนวคิดพุทธศาสนามาใช้กับทุกข์ทางสังคม จึงปรากฏเป็นแนวคิด กระบวนการที่เน้นการแก้จากปัจจัยภายในตัวมนุษย์เป็นสำคัญ แต่ก็ไม่ละเลยปัจจัยภายนอก
สรุปได้ว่าหลักของการแก้ไขปัญหาด้วยพุทธวิธีมีดังนี้ ๑) แนวคิดการเข้าใจการเกิดปัญหาทุกข์หรือความขัดแย้งของมนุษย์นั้น ต้องเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆภายในจิตใจของมนุษย์ รวมทั้งบริบทหรือเหตุการณ์ของสังคมภายนอกส่งผลต่อปัจจัยภายใน ซึ่งการพิจารณาผ่านหลักปฏิจจสมุปบาท จะทำให้เห็นภาพการหมุนวนของเหตุปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดทุกข์หรือความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อเหตุปัจจัยภายในเมื่อหมุนวนหลายรอบตามวงจรปฏิจจสมุปบาท และมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมาเร่ง จะทำให้เกิดวงจรอกุศลมูล การแก้ไขจึงมีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ๒) กระบวนการและวิธีการแก้ปัญหาของพุทธศาสนา จะยึดหลักการวิเคราะห์และแสวงหาทางแก้ ผ่านหลักของ ผล(ทุกข์), เหตุ(สมุทัย), ทางออก(นิโรธ) และวิธีการ(มรรค) หรือ หลักอริยสัจ เป็นสำคัญ ๓) เครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาให้สำเร็จ คือ การใช้พุทธธรรมที่เหมาะสมมาช่วยให้คู่กรณีตระหนักรู้ตนเองจากภายใน หรือทำให้วงจรปฏิจจสมุปบาทหมุนกลับ เกิดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ทำให้ทุกข์หรือความขัดแย้งยุติ ความสัมพันธ์ที่ดีกลับคืนมาอันเป็นจุดเด่นของพุทธวิธี
จากการวิเคราะห์แนวคิดและกระบวนการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีในระบบสาธารณสุขของไทยและตะวันตก และแนวคิดและกระบวนการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธวิธี เมื่อผู้วิจัยนำมาบูรณาการโดยใช้จุดเด่นของพุทธวิธีเป็นหลัก และนำจุดแข็งและโอกาสที่เป็นประโยชน์ของแนวตะวันตกมาประกอบ ทำให้เกิดเป็นรูปแบบพุทธวิธีการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยระบบย่อย ๓ ระบบซึ่งต่อเนื่องและเสริมกัน ดังนี้
ระบบย่อยที่ ๑ เข้าใจอย่างพุทธ (ปฏิจจสมุปบาทด้านการแพทย์และสาธารณสุข)
เป็นจุดเริ่มของการใช้แนวคิดการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธาณสุขจากภายใน โดยให้คู่กรณีตระหนักรู้เหตุปัจจัยต่างๆภายในจิตใจโดยมีสิ่งเร้าภายนอกอันเป็น ๕ สาเหตุปัจจัยในวงกลมความขัดแย้งของแนวคิดตะวันตก เมื่อมากระทบภายในตัวหมอและคนไข้ในวงจรปฏิจจสมุปบาทอย่างชัดเจนในขั้นของตัณหาและอุปาทาน จะหมุนวนไปสู่อวิชชา ของการรักษาโรคและการหายจากโรค และเกิดวงจรอกุศลมูล(โลภะโทสะ โมหะ)ในที่สุด การให้คู่กรณีตระหนักรู้ก็เพื่อมองหาทางออกจากเหตุปัจจัยเหล่านี้อย่างไม่ยึดติดด้วยตนเอง
ระบบย่อยที่ ๒ จัดการที่ต้นตอ (อริยสัจด้านการแพทย์และสาธารณสุข)
เป็นการใช้กระบวนการแนวพุทธเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของคู่กรณีมาร่วมกันทำความเข้าใจปัญหา, สาเหตุ, ทางออก และวิธีการแก้ โดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เกิดการใช้ความจริงหรือหลักกอริยสัจในการแก้ปัญหา และ อาจนำการจัดการปัญหาบนฐานของผลประโยชน์ร่วมกันตามแนวตะวันตกมาเสริมจะทำให้กระบวนการแก้ปัญหาสำเร็จง่ายขึ้น
ระบบย่อยที่ ๓ ปรับโครงสร้างวิธีการจัดการ (มรรควิธีด้านการแพทย์และสาธารณสุข)
เป็นการหาวิธีการแก้ที่ตรงกับเหตุปัจจัยหรือวิธีการที่ทำให้วงจรปฏิจจสมุปบาทหมุนกลับไปสู่การเกิดกุศลมูลขึ้นในจิตใจของหมอ-คนไข้ โดยใช้มรรคมีองค์ ๘ อันประกอบด้วย ดำริชอบ คิดชอบ กระทำชอบ เป็นต้น ผ่านการพูดคุยอย่างลึก(Profound talk)และโดยอาศัยการปรับกรอบความคิด(Reframing)ตามแนวตะวันตกมาเป็นตัวช่วยให้เกิดการตอบสนองความต้องการที่จำเป็นทั้งภายในและภายนอกจิตใจ เพื่อให้ความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขยุติและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมอ-คนไข้กลับคืน
ผู้วิจัยได้เสนอแนะว่า การนำรูปแบบแนวคิดพุทธวิธีในการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุขนี้ไปใช้ ควรมีศึกษาเพิ่มเติมการทดลองนำไปใช้ฝึกอบรมกับกลุ่มผู้ไกล่เกลี่ย หรือ นักจัดการความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขของไทย เพื่อสร้างคู่มือปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อไป.
|