หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จ่าสิบเอกวิเชียร นามการ
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
การศึกษาอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีผลต่อสังคมไทยปัจจุบัน
ชื่อผู้วิจัย : จ่าสิบเอกวิเชียร นามการ ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระหัสดี กิตฺตินนฺโท พธ.บ., M.A., Ph.D.
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ ตันยะ กศ.บ., กศ.ม., กศ.ด.
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ คงสัตย์ พธ.บ., M.A., ปร.ด.
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ () เพื่อศึกษาเรื่องพญานาคที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท () เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องพญานาคที่ปรากฏในสังคมไทย  () เพื่อศึกษาอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีผลต่อสังคมไทยปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า

พญานาคในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง ความประเสริฐ ไม่มีบาป เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์กว่าสัตว์อื่นทั้งหลาย พระพุทธศาสนาแยกพญานาคออกเป็น ๑,๐๒๔ ชนิด จัดลำดับชั้นของพญานาคได้ ๔ ตระกูล ตระกูลวิรูปักขะ มีผิวกายสีทอง ตระกูลเอราปักถะ มีผิวกายสีเขียว ตระกูลฉัพยาปุตตะ มีผิวกายสีรุ้ง ตระกูลกัณหาโคตรมะ มีผิวกายสีดำ ที่เป็นใหญ่กว่าพญานาคทั้งปวง คือ ตระกูลวิรูปักขะ ที่มีผิวกายเป็นสีทอง เป็นหนึ่งในสี่ของท้าวมหาราชที่ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุม            มหาราชิกา ด้านทิศตะวันตก ในคัมภีร์สันสกฤต นาคหรือพญานาคถือกำเนิดจากนางกัทรูหรือนางสุรสา กับพระกัศยพราหม์ฤษี มีลักษณะเป็นสัตว์เกิดจากฟองไข่ พญานาคแบ่งตามสถานที่เกิดได้ ๒ แบบ คือ ที่เกิดได้เฉพาะในน้ำ เรียกว่า ชลชะ ที่เกิดได้เฉพาะบนบก เรียกว่า ถลชะ และยังแยกพญานาคออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่เสวยกามคุณและประเภทไม่เสวยกามคุณ เหตุที่ทำให้เกิดเป็นพญานาคนั้น ล้วนเกิดจากอำนาจบุญ คือ ทำบุญเจือไปด้วยราคะ

ความเชื่อเรื่องพญานาคที่ปรากฏในสังคมไทยโดยรวม เชื่อว่าพญานาคเป็นทิพย์กึ่งเทพและสัตว์ มีอิทธิฤทธิ์ สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์และสัตว์อื่นได้ตามสภาวะ เป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ ให้คุณ เช่น ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย ให้โชคลาภ ทั้งช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้โทษ ทำให้เจ็บป่วย ขัดขวางงานพิธีต่าง ๆ มีบุคคลที่สังคมไทยเคารพเชื่อถือ เช่น พ่อปู่อินทร์ (เขาภูตำแย) อำเภอปักษ์ธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่าพญานาคแปลงกายมามอบเงินให้เป็นทุนร่วมสร้างโบสถ์ และพระมหาเถระไทยหลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต (ดูในตามรอยธุดงค์ ควัตร พระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต) พญานาคมีจริงทั้งที่เป็นสัมมาทิฎฐิชอบฟังธรรมและมิจฉาทิฎฐิขัดขวางการปฏิบัติธรรม ท่านได้ยกเอาประสบการณ์เรื่องพญานาคที่ได้พบมาบรรยาย ตามโอกาสที่ได้แสดงธรรมในที่ต่าง ๆ สร้างความเชื่อให้สังคมไทยมากยิ่งขึ้นว่าพญานาคมีจริง

อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีผลต่อสังคมไทยปัจจุบันพบว่า ด้านศิลปกรรมได้รับอิทธิพลความเชื่อจากบุคคลที่สังคมเคารพเชื่อถือและพุทธประวัติด้วย เช่น เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทวดาเนรมิตบันไดแก้วมณีสีรุ้งขึ้นรองรับเสด็จ ส่วนพญานาค ๒ ตน ได้ใช้หลังหนุนบันไดแก้วมณีสีรุ้งนั้นไว้ สังคมไทยจึงเชื่อว่าพญานามีวาสนาบารมีที่ได้ใช้หลังตนเองรองรับเสด็จพระพุทธเจ้า ด้านประเพณี เช่น ประเพณีบวชนาค ประเพณีปล่อยเรือไฟ ประเพณีบุญข้าวกรรมหรือบุญกองฮด ประเพณีขอฝน ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานก็เกิดจากอิทธิพลของพญานาคเพราะสังคมไทยเชื่อว่าพญานาคให้คุณให้โทษได้ ความเชื่อด้านไสยศาสตร์เชื่อตามตำนานของชาวล้านนา ที่นำทิศทางการนอนหันศีรษะของพญานาคมาใช้ในพิธีเพื่อขอที่ดินปลูกบ้าน และยกเสาเอก ขอน้ำฝนเพื่อทำการเกษตร ในทางพระพุทธศาสนาพญานาคก็เป็นผู้ปกปักษ์รักษาพุทธสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ที่พระธาตุพนม พระธาตุมหาชัย (วัดไทย) อิทธิพลของพญานาคจึงมีผลต่อสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ดาวน์โหลด

 

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕