บทคัดย่อ
(๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาวันธรรมสวนะในพระพุทธศาสนาเถรวาท
(๒) เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติวันธรรมสวนะในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ
(๓) เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติวันธรรมสวนะของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยปัจจุบัน ผลการวิจัยพบว่า
ความเป็นมาวันธรรมสวนะในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่ เขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลว่า นักบวชในศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในศาสนา แต่พระพุทธศาสนานั้นยังไม่มี พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ประชุมสนทนาธรรม และแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนตามคำขออนุญาตของพระเจ้าพิมพิสาร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ได้กำหนดวันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ) วันแรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาดถือเอาวัน แรม ๑๕ ค่ำ) เป็นวันฟังธรรมในสมัยพุทธกาล
หลักปฏิบัติวันธรรมสวนะในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า การปฏิบัติกิจกรรมในการทำบุญ คือ (๑) การทำวัตรสวดมนต์ พระสงฆ์จะทำวัตรสวดมนต์ อุบาสกอุบาสิกาจึงทำวัตรสวดมนต์ต่อจากพระสงฆ์ (๒) การรับศีล ในวันธรรมดาโดยทั่วไปจะสมาทานเบญจศีล (ศีล ๕) ในวันธรรมสวนะ (วันพระ) จะสมาทานอุโบสถศีล หรือศีลอุโบสถ มี ๘ ข้อและ (๓) การฟังธรรม เพื่อบำเพ็ญจิตภาวนา และปฏิบัติไปเพื่อต้องการบรรลุหลักธรรมขั้นสูง
ข้อปฏิบัติวันธรรมสวนะของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยปัจจุบัน พบว่า เมื่อวันธรรมสวนะมาถึงพุทธศาสนิกชนไทยปัจจุบันส่วนหนึ่งจึงออกไปทำบุญที่วัด และอีกส่วนหนึ่งก็ทำการสวดมนต์ ไหว้พระที่บ้าน หรือแม้แต่พระสงฆ์ และสามเณรในวัดก็ได้ทำกิจกรรมเช่นเดียวกัน หากพิจารณาข้อปฏิบัติวันธรรมสวนะของสังคมไทยปัจจุบัน คือ ช่วงเช้าทำบุญ ตักบาตร รับศีล ฟังเทศนาธรรม และรวมถึงการรักษาศีลอุโบสถ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธา และความเชื่อที่มีต่อวันธรรมสวนะ สังคมไทยจึงได้ถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน และถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่จะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และในปัจจุบันก็ได้ปฏิบัติ เพื่อดำรงรักษาไว้พระพุทธศาสนาให้มั่งคงสืบต่อไป
ดาวน์โหลด |