หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายบุณยกร วชิระเธียรชัย
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์คติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสที่มีอิทธิพลต่องานพุทธศิลป์
ชื่อผู้วิจัย : นายบุณยกร วชิระเธียรชัย ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ดร., ป.ธ.๗, ร.บ., พช.ม.,
  รศ.สมคิด จิระทัศนกุล, สถ.บ., ศศ.ม., M.A.
  .
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาของ       คติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสที่มีผลต่อการสร้างงานพุทธศิลป์ของไทย และ ๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลคติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสที่มีต่อสังคมไทย

วิธีดำเนินการศึกษาครั้งนี้ อยู่บนฐานของกรอบงานวิจัยที่เน้นการศึกษาในเชิงคุณภาพ ศึกษาเกี่ยวกับงานปฏิมากรรม งานสถาปัตยกรรม รวมไปถึงศิลปกรรมอื่น โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากหลักฐาน และเอกสารต่างๆทั้งในส่วนของข้อมูลปฐมภูมิ และทุติยภูมิ พร้อมกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคสนาม นำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ภายใต้คติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารส การสร้างสรรค์และอิทธิพลที่มีต่อสังคมไทย

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า คติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสปรากฏในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี  อรรถกถาพุทธวงศ์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๐) เป็นอย่างช้า และได้มีความแพร่หลายอยู่ในประเทศศรีลังกา สมัยโปลนนารุวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘) เนื่องจากปรากฏพุทธปฏิมาที่ถูกเรียกว่า       ขนาดเท่าองค์พระพุทธเจ้าขณะมีพระชนม์ชีพ เนื่องด้วยความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่าง ศรีลังกา-สุโขทัยในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ หรือก่อนหน้านั้น ในยุคสมัยสุโขทัยได้ปรากฏพุทธปฏิมาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและถูกเรียกว่าพระอัฏฐารส สะท้อนความหมายพระโคตม-   พุทธเจ้าสูง ๑๘ ศอก ตามขนาดที่ระบุไว้ในคัมภีร์เช่นเดียวกัน ในการเก็บข้อมูลภาคสนามได้พบพุทธปฏิมาในอิริยาบถต่างๆ ที่ถูกสร้างตามคติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารส นอกเหนือจากอิริยาบถยืนที่เป็นความเชื่อในสมัยก่อนว่าพระอัฏฐารสต้องเป็นพระยืน ในทางสถาปัตยกรรมสามารถกำหนดประเภทอาคารได้ ๒ ประเภท ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอัฏฐารส ได้แก่ วิหาร และมณฑป

อิทธิพลของคติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสที่มีต่อสังคมไทยในสมัยสุโขทัยและยุคสมัยเกี่ยวเนื่อง ได้ปรากฏในเชิงรูปธรรม ได้แก่ ด้านวรรณกรรมที่เป็นจารึกและตำนานทางพระพุทธศาสนา, ด้านพุทธศิลป์ ทั้งปฏิมากรรมและสถาปัตยกรรม ในเชิงนามธรรม ได้แก่           คติความเชื่อเรื่องขนาดพระวรกายของพระโคตมพุทธเจ้า, การประดิษฐานพระอัฏฐารสกับระเบียบการปกครองสงฆ์ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้ปกครองสมัยสุโขทัย ซึ่งนอกเหนือจากอิทธิพลต่อสังคมไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังปรากฏในแง่มุมอื่นๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างคติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารส กับรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ และรอยพระพุทธบาทจำลองสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไท, โลกทรรศน์เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องขนาดพระวรกายของพระพุทธเจ้าในยุคสมัยหลังสุโขทัย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕