บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง “ผลสัมฤทธิ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ของพระธรรมจาริก” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑. เพื่อศึกษาสภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ๒. เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคต่อผลสำเร็จการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริก ในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู และ ๓. เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู
ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ และผสมด้วยการวิจัยภาคสนามสำรวจความคิดเห็นจากพื้นที่จริง ด้วยเครื่องมือวิจัยแบบสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อย ประชากรและกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านเลาวู และบ้านศรีดงเย็น (บ้านต้นลุง) ที่พระธรรมจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา, ชนชาติพันธุ์ลีซูผู้ที่เคยบรรพชา-อุปสมบท, ผู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนที่วัดศรีโสดา, พระธรรมจาริกที่เข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนากับชาวลีซู และเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ประชาสงเคราะห์ชาวเขา)ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์ลีซู จำนวน ๖๓ รูป/คน การวิเคราะห์ ใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหากับข้อมูลเอกสาร ส่วนข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่ม วิเคราะห์ด้วยสถิติความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยกลาง ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสรุปความเห็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง นำเสนอในแบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์ และตารางประกอบคำบรรยาย
ผลของการศึกษาวิจัยพบว่า
๑) สภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูนั้น เป็นไปด้วยความเชื่องช้า มีความยากลำบากกว่าการเผยแผ่ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น พระธรรมจาริกได้ตั้งอาศรม แห่งแรกขึ้นที่บ้านเลาวู อำเภอวียงแหง และอาศรมแห่งที่ ๒ ที่บ้านศรีดงเย็น (บ้านต้นลุงหรือบ้านปางไม้แดง) อำเภอแม่แตง สภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยมีชาวลีซูได้นับถือพระพุทธศาสนาและส่งบุตรหลานเข้ามาบวชเรียน แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู มีความเชื่อดั้งเดิมในลัทธิผีสางเทวดา เคารพนับถือบรรพบุรุษ อุปนิสัย อัตลักษณ์ของชนเผ่าลีซูตลอดจนวัฒนธรรมของชาวลีซู ต่างจากศาสนาพุทธมาก อุดมคติ ของชาวลีซูก็ต่างจากหลักการของพระพุทธศาสนาด้วย จึงทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
๒) ปัญหาอุปสรรคต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริก ในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู มีหลายประการ เช่น ก. สภาพภูมิศาสตร์ การคมนาคม ยังไม่สะดวก ทุรกันดาร ลีซูบางหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องจุดตะเกียงหรือตะเกียงเจ้าพายุ หรือใช้วัสดุอื่นๆ เช่น ด้าย หรือไม้สนเกี๊ยะจุดให้แสงสว่างกลางคืน ข. คติความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งลัทธิความเชื่อ ผีสาง เทวดาของ ชาวลีซูบางหมู่บ้านยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ปัญหาด้านคติชีวิตและค่านิยมเดิมก็เป็นอุปสรรค ซึ่งชาวลีซูมีภาษิตว่า “ทุกคนหัวเข่าเท่ากัน” เป็นต้น ค. ภาษาที่สื่อสาร ชาวลีซูโดยมาก ยังไม่สันทัดในการพูด อ่าน เขียน ภาษาไทย และโดยเฉพาะ “ภาษาลีซู” เอง ก็เป็นอุปสรรคสำหรับพระธรรมจาริก ที่ไม่ใช่ชาวลีซูแล้วเข้าไปเผยแผ่และอยู่ในหมู่บ้านลีซู และ ง. ปัญหาด้านบุคคลากร ได้แก่การขาดแคลนพระธรรมจาริก หรือไม่มีพระธรรมจาริกไปประจำอยู่ในหมู่บ้านลีซู ปัจจุบัน มีพระธรรมจาริก เพียง ๑ หรือ ๒ รูป ไปอยู่ในหมู่บ้านลีซู ๒ หรือ ๓ หมู่บ้านเท่านั้น
๓) แนวทางที่เหมาะสมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่ม ชาติพันธุ์ลีซู
พระธรรมจาริก ควรมีการวางแผนเชิงรุก นั่นคือ ๑) ควรมีแผนการหรือโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นกรณีพิเศษสำหรับชาวลีซู ๒) ควรชักชวนชาวลีซูหันมาเรียนพระปริยัติธรรมและนักธรรมให้มากขึ้น ๓) ควรให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรชาวลีซูที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและนักธรรมอย่างต่อเนื่อง ๔) ควรกำหนดเป้าหมายว่า แต่ละปีจะอบรมแกนนำชาวพุทธลีซูกี่คน โดยการเปิดรับอาสาสมัครแกนนำชาวพุทธที่เป็นชาวลีซู ทั้งชายและหญิงแล้วนำมาอบรม ทำหน้าที่ช่วยพระธรรมจาริกในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
สำหรับการสอนหลักพระพุทธศาสนานั้น พระธรรมจาริกควรเน้น หลักพุทธธรรมที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น ศีล ๕ สังคหวัตถุ ๔ ฆรวาสธรรม ๔ อริยสัจ ๔ มรรค มีองค์ ๘ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิสัยทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูให้ตรงตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ผลยิ่งขึ้น
ดาวน์โหลด |