หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายเกียรติศักดิ์ พันธวงศ์
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบหลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาท กับ ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ชื่อผู้วิจัย : นายเกียรติศักดิ์ พันธวงศ์ ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดวงจันทร์ คุตฺตสีโล,ดร. ป.ธ. ๕, พธ.บ, M.A., Ph.D. (Buddhist Studies)
  ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ป.ธ.๙, พธ.บ., M.A., Ph.D. (Philosophy)
  ดร.พงศ์ สุภาวสิทธิ์ นบ.,รม., Ph.D. (Philosophy)
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

       บทคัดย่อ

                   การศึกษาวิจัย เรื่องศึกษาเปรียบเทียบหลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาท

กับประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี้มีวัตถุประสงค์ ๔ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาหลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพระพุทธศาสนาเถรวาทตามหลักอธิกรณ์  วิธีระงับอธิกรณ์ และกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๒๑ว่าด้วยการลงนิคหกรรมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ (๒) เพื่อศึกษาหลักการลงโทษผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแห่งราชอาณาจักรไทย (๓)  เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหลักการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยในพุทธศาสนาเถรวาทกับหลักการลงโทษผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแห่งราชอาณาจักรไทยและ (๔) เพื่อสังเคราะห์รูปแบบหลักการและกระบวนการลงโทษผู้กระทำผิดที่เหมาะสมและยุติธรรมกับสังคมสมัยปัจจุบัน

   จากการศึกษาพบว่า  หลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาทสมัยพุทธกาลนั้นอธิกรณ์และวิธีระงับอธิกรณ์เป็นวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งในแง่ของพระวินัยและเป็นการระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมสงฆ์ อธิกรณ์แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท และวิธีระงับอธิกรณ์แบ่งออกเป็น ๗ ประเภท ส่วนการระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมสงฆ์ในปัจจุบันคือกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๒๑ ว่าด้วยการลงนิคหกรรมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕  เป็นการถอดแบบมาจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของฝ่ายอาณาจักร

                   ประมวลกฏหมายอาญาและประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นการจัดการความขัดแย้ง เป็นการระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม และเป็นการลงโทษผู้กระทำผิดของฝ่ายอาณาจักรสำหรับใช้ควบคุมความประพฤติของคนในสังคม ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสมาชิกในสังคม ทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นเป็นไปโดยราบรื่น สนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

                   การศึกษาเปรียบเทียบหลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาทกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็นอธิกรณ์และวิธีระงับอธิกรณ์ พบว่ามีความเหมือนกันและความแตกต่างกัน ๔ ประการคือ (๑) กระบวนการฟ้อง (๒) กระบวนการพิจารณา (๓) กระบวนการพิพากษา (๔) กระบวนการระงับโทษ และในประเด็นกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๒๑ ว่าด้วยการลงนิคหกรรมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ พบว่ามีความเหมือนและความแตกต่างกัน ๔ ประการคือ (๑) องค์ประกอบของการฟ้อง (๒) ขั้นตอนการพิจารณา (๓) ประเภทของพยานหลักฐาน (๔) วิธีบังคับตามคำวินิจฉัย

              สำหรับรูปแบบการลงโทษผู้กระทำผิดที่เหมาะสมและยุติธรรมกับสังคมสงฆ์และสังคมไทย พบว่าอธิกรณ์และวิธีระงับอธิกรณ์เป็นการออกแบบที่มีเป้าหมายเพื่อ ป้องกัน” “ป้องปรามและ ปราบปรามอธิกรณ์ที่จะเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของการระงับอธิกรณ์แต่ละชุดวิธีนั้นมุ่งตรงไปที่เป้าหมายใหญ่นั่นก็คือ ความสันติแห่งสังคมสงฆ์หรือสังฆสามัคคี  ดังนั้นหลักการลงโทษผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องนำหลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาทมาประยุกต์ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษา จะทำให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม เที่ยงธรรม และเกิดสันติสุขแก่สังคมโดยรวมต่อไป

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕