หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระพิรุณ วุฑฺฒิธมฺโม (ตะเนาว์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๗ ครั้ง
การพัฒนาบุคคิกภาพในพระพุทธศาสนา (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระพิรุณ วุฑฺฒิธมฺโม (ตะเนาว์) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหา ดร.ไสว เทวปุญฺโญ
  ผศ.รุ่งเรือง บุญโญรส
  นายบัณฑิต รอดเทียน
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายของการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพในพระพุทธศาสนา ผลการวิจัยมีข้อสรุปดังนี้

     บุคลิกภาพในพระพุทธศาสนา หมายถึง บุคลิกลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลผู้ที่แสดงพฤติกรรมที่เป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หรือแสดงพฤติกรรมที่เป็นกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่มีอยู่ภายในจิต และที่ปรากฎออกมาทางร่างกายตามแรงจูงใจหรือแรงผลักดันจากภายในจิต บุคลิกภาพมี ๒ อย่าง ได้แก่บุคลิกภาพภายใน หมายถึง บุคลิกลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลผู้มีมโนสุจริตและมโนทุจริต และการแสดงพฤติกรรมให้ปรากฎออกมาจะขึ้นอยู่กับจริต ๖ ประกอบด้วย และบุคลิกภาพภายนอก หมายถึง บุคลิกลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลผู้ที่มีกายทุจริต วจีทุจริต หรือกายสุจริต วจีสุจริต ที่แสดงออกมาให้บุคคลอื่นรับรู้ ความหมายของบุคลิกภาพในพระพุทธศาสนา มีความสอดคล้องกับความหมายของบุคลิกภาพในทัศนะจิตวิทยาที่สรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ บุคลิกภาพภายนอก หมายถึง บุคลิกลักษณะที่แสดงออกมาทางกายและวาจา และบุคลิกภาพภายใน หมายถึง บุคลิกลักษณะที่มีอยู่ภายในจิตหรืออุปนิสัย

     การพัฒนาบุคลิกภาพในพระพุทธศาสนา คือ การกรับกรุงบุคลิกภาพภายในเพื่อส่งเสริมบุคลิกภาพภายนอกให้ดีขึ้น และเน้นปรับปรุงบุคลิกภาพภายใน เพื่อนำไปสู้การบรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ พระนิพพาน การพัฒนาบุคลิกภาพทางจิตวิทยามีความสอดคล้องกับการพัฒนาบุคลิกภาพตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนา คือ เป็นการปรับปรุงบุคลิกภาพและบุคลิกลักษณะที่ปรากฎภายนอกและภายใน ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์

     การพัฒนาบุคลิกภาพตามช่วงวัยของชีวิต มีส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การมีองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายในในแต่ละช่วงวัยของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้การพัฒนาบุคลิกภาพประสบความสำเร็จ พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งสององค์ประกอบ องค์ประกอบภายนอกได้แก่เรื่องการมีกัลยาณมิตรคอยให้ความช่วยเหลือแนะนำตักเตือน และองค์ประกอบภายในได้แก่การมีโยนิโสมนสิการในการคิด ไตรืตรอง หาเหตุผล เป็นสัมมาทิฏฐิ และทัศนะทางจิตวิทยาเน้นความสำคัญถึงองค์ประกอบภายนอกคือ การมีกัลยาณมิตร และการได้รับการอบรมจากมารดาบิดา จะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาในแต่ละระยะช่วงวัยของชีวิตมีความต่อเนื่องเป็นไปในทางที่มีประสิทธิภาพ

     การพัฒนาบุคลิกภาพในพระพุทธศาสนา มีกรอบการพัฒนาหลายแบบ ผู้วิจัยได้นำมงคล ๓๘ ประการมาเป็นกรอบของการวิจัยนี้ การวิจัยพบว่า บุคคลที่ได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องนั้น จะได้รับผลใน ๓ ทาง คือ ๑ กายภาวนา (อบรมศีล) พฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เป็นกายทุจริต วจีทุจริต ปรับเปลี่ยนมาเป็นกายสุจริต วจีสุจริต ๒ จิตตภาวนา (อบรมสมาธิ) บุคลิกลักษณะภายในที่เป็นมโนทุจริตปรับเปลี่ยนเป็นมโนสุจริต และจิตมีความมั่นคงไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรมที่มากระทบ ๓ ปัญญาภาวนา (อบรมปัญญา) ปรับเปลี่ยนจากโลกียปัญญาที่ยังไม่สามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ไปเป็นโลกุตตรปัญญาที่สามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง และทำให้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ การดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า พระนิพพาน


 

 

Download : 254601.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕