บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความพึงพอใจของบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ในระดับมัธยมศึกษา ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา ในโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี กลุ่มประชากรที่ใช้ในการการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๑๕๙ คน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็น แบบสอบถาม มาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และ One-way ANOVA โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
๑. ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน ๘๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๑.๖ แบ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษา จำนวน ๒๙ คน นักเรียนมัธยมศึกษา จำนวน ๕๓ คน โดยบุคลากรทางการศึกษามีอายุมากกว่า ๔๐ ปี จำนวน ๒๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๐ ส่วนนักเรียนมีอายุ ต่ำกว่า ๒๐ ปี จำนวน ๙๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๙.๗ ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่มีวุฒิ ปริญญาตรี ๕๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๘ และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๓ จำนวน ๓๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๕ ส่วนใหญ่เรียนธรรมศึกษาโท จำนวน ๗๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๙.๑ ธรรมศึกษา เอก จำนวน ๕๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๓ ธรรมศึกษาตรี จำนวน ๒๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๖
๒. ความพึงพอใจของบุคลากรทางการศึกษา และ นักเรียน ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา ในโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี พบว่า โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านทั้ง ๔ ด้าน พบว่า ส่วนใหญ่ล้วนมีความพึงพอใจต่อ ครูผู้สอน ในระดับมากที่สุด และในด้านรองลงมาได้แก่ ด้านเนื้อหาและวิธีการสอน , ด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก , ด้านการบริหารงานทั่วไป ตามลำดับ
๓. ผลการเปรียบเทียบ ความพึงพอใจของบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา ในโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี มีความพึงพอใจ ในภาพรวมไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า บุคลากรทางการศึกษา มีความพึงพอใจมากกว่านักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ทั้ง ๔ ด้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕
ดาวน์โหลด |