บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อพระสอนศีลธรรมโรงเรียนสมุทรปราการ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อพระสอนศีลธรรมโรงเรียนสมุทรปราการ โดยจำแนกตามเพศ อายุ และระดับชั้นเรียน ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการสอน ของพระสอนศีลธรรมโรงเรียนสมุทรปราการ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนโรงเรียนสมุทรปราการ จำนวน ๒๗๕ คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, t-test, F-test และ ANOVA
ผลการศึกษาพบว่า
๑. ด้านเนื้อหาการสอน พระผู้สอนได้มีการกำหนดเนื้อหาสาระที่จะทำการสอนให้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี เก่งและมีความสุข และเนื้อหาสาระมีความเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น นอกจากนี้เนื้อหาสาระมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
๒. ด้านวิธีการสอน พระผู้สอนมีการแจ้งจุดประสงค์การเรียนให้นักเรียนทราบก่อนทำการสอนเสมอ มีการจัดบรรยากาศในห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาที่สอนได้ง่ายขึ้น และมีการกำหนดเนื้อหาสาระในการสอนแต่ละครั้งให้เหมาะสมกับเวลาเรียน
๓. ด้านการใช้สื่อ พระผู้สอนมีการจัดหา/จัดทำสื่อการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง และยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
๔. ด้านการจัดเรียนการสอน พระผู้สอนมีการจัดกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึก และค่านิยมที่ดีงามให้แก่นักเรียน มีการสอดแทรกกิจกรรมที่หลากหลายให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมเพื่อที่จะสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระที่เรียนได้ดียิ่งขึ้น
๕. ด้านการประเมินผลการสอน พระผู้สอนมีการแจ้งผลการประเมินให้นักเรียนทราบทุกครั้ง และการวัดผล/ประเมินผลมีความสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้
เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนสมุทรปราการ ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน
แนวทางส่งเสริมการสอนของพระสอนศีลธรรม คือ
๑. ด้านเนื้อหาการสอน ของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนควรมีการวางแผนการสอนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของเนื้อหาในวิชาพระพุทธศาสนา
๒. ด้านวิธีการสอน ของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนควรมีการส่งเสริมให้นักเรียนมีกิจกรรมร่วมในการเรียนการสอนให้มากขึ้น
๓. ด้านการใช้สื่อ ของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนควรใช้สื่อให้หลากหลายทั้งแบบธรรมชาติ และสื่อสมัยใหม่
๔ . ด้านการจัดการเรียนการสอน ของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ควรสอนจากง่ายไปหายาก และสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองเรียกว่า สอนให้คิดเป็นทำเป็น
๕. ด้านการวัดและประเมินผล ควรวัดผลและการประเมินผลตามสภาพความเป็นจริงในการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนานี้ จะผสมผสานไปกับการจัดกิจการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนในสถานการณ์ที่ผู้เรียนปฏิบัติจริงโดยเน้นให้ครอบคลุมพฤติกรรมการแสดงออก
ดาวน์โหลด |