บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการ เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการ และเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนางานวิชาการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร โดยได้สุ่มกลุ่มตัวอย่าง ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บริหารและครูผู้สอน จำนวน ๘๑ รูป/คน และกลุ่มนักเรียน จำนวน ๒๗๖ รูป โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณหาค่าสถิติต่างๆ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test และค่า One-way ANOVA
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ระดับความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้บริหารและครูผู้สอน สรุปรวมทุกด้าน พบว่า ในภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านหลักสูตร รองลงมา คือ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ด้านสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านกระบวนการเรียนรู้ ส่วนสำหรับนักเรียน พบว่า ในภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา รองลงมา คือ ด้านสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา ด้านการวัดผลและประเมินผลการศึกษา และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านกระบวนการเรียนรู้
๒. การเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการโรงเรียน พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร ของผู้บริหารและครูผู้สอน จำแนกตามสถานภาพ, เพศ, อายุ, วุฒิการศึกษา, ประสบการณ์ และตำแหน่ง พบว่า ทุกด้านในภาพรวมมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน ส่วนสำหรับนักเรียน จำแนกตามอายุ, ระดับชั้นที่เรียน และภูมิลำเนาเดิม พบว่า ทุกด้านในภาพรวมมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
๓. แนวทางในการพัฒนางานวิชาการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูผู้สอน (๑) ด้านหลักสูตร ควรเปิดโอกาสให้บุคลากรในสถานศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างหลักสูตร (๒) ด้านกระบวนการเรียนรู้ ครูผู้สอนควรมีการจัดทำแผนการเรียนรู้ (๓) ด้านสื่อนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา ควรจัดการอบรม นิเทศวิธีการผลิตสื่อที่หลากหลาย (๔) ด้านการวัดผลและประเมินผลการศึกษา ควรออกแบบเครื่องมือการวัดผลและประเมินผลให้สอดคล้องกับความรู้ของผู้เรียน มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการทดสอบ (๕) ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ควรแต่งตั้งบุคคลรับผิดชอบด้านการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ ส่วนแนวทางในการพัฒนางานวิชาการตามข้อเสนอแนะของนักเรียน (๑) ด้านหลักสูตร ควรให้เพิ่มเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้เรียน จัดตำราเรียนให้ครบถ้วนทุกเนื้อหาวิชา (๒) ด้านกระบวนการเรียนรู้ ครูควรใส่ใจในการสอนให้มาก (๓) ด้านสื่อนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา ควรมีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย (๔) ด้านการวัดผลและประเมินผลการศึกษา ควรประกาศผลทดสอบตามวันและเวลาที่กำหนด (๕) ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ควรเปิดเผยและประกาศผลการประเมินคุณภาพของโรงเรียนให้นักเรียนได้ทราบ
ดาวน์โหลด |