บทคัดย่อ
การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาปัจจัยการบริหารงานวิชาการโรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการเขต ๑ และ ๒) เพื่อศึกษาประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการโรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑
ดำเนินการวิจัยโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน ๕ คน ครู จำนวน ๘๗ คน บุคลากรทางการศึกษาอื่น จำนวน ๑๒ คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน ๑๑ คน และผู้ปกครองเครือข่าย จำนวน ๕๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖๕ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม โดยสอบถามเกี่ยวกับ สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม ปัจจัยการบริหารงานวิชาการและประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการ ใช้แบบสอบถามทั้งสิ้น ๑๖๕ ฉบับ โดยเป็นประชากรตัวอย่างทั้งหมดที่ใช้ในการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๓ ระดับ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยการบริหารงานวิชาการ ทั้ง ๕ ด้าน พบว่าโดยภาพรวม และเกือบทุกด้านมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นด้านสภาพของโรงเรียน และด้านครูผู้สอนมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าด้านสภาพทั่วไปของโรงเรียน ในเรื่องความพร้อมของโรงเรียน ประเด็นในการจัดโครงสร้างการบริหารโรงเรียนโดยให้บุคลากรทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก และการจัดแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการบริหารงานวิชาการ การจัดเตรียมสื่ออุปกรณ์ การกำหนดนโยบายพัฒนางานวิชาการ และการกำหนดระเบียบปฏิบัติ และคู่มือการปฏิบัติงานวิชาการมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก นอกนั้นมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง
ในด้านผู้บริหาร ประเด็นการมีวิสัยทัศน์ทางการบริหาร การมีความรับผิดชอบเสียสละเพื่อพัฒนางานวิชาการ มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ด้านครูผู้สอน แทบทุกประเด็นมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดยภาพรวมแล้วด้านครูผู้สอนมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ด้านชุมชน ประเด็นการเปิดโอกาสให้สถานศึกษาใกล้เคียงได้เข้ามาใช้บริการด้านวิชาการของโรงเรียน มีการปฏิบัติในระดับมาก ด้านทรัพยากรโดยภาพรวมทุกประเด็นมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง
ประสิทธิผลการบริหารงานวิชาการ พบว่า โดยภาพรวม และรายด้านเกือบทุกด้านมีการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นด้านบริหารจัดการหลักสูตร และด้านจัดการเรียนการสอนที่มีการมีการดำเนินงานปรากฏตามเป้าหมาย มีการติดตามตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานตลอดทั้งมีการปรับปรุง และพัฒนาอย่างเป็นระบบและ ต่อเนื่อง อยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากโดยภาพรวมของการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนได้จัดดำเนินการทุกเรื่องนับตั้งแต่การวางแผนวานวิชาการ การบริหารจัดการหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การนิเทศการศึกษา และการประเมินผลอย่างมีระบบแบบแผนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านบริหารจัดการหลักสูตร และด้านจัดการเรียนการสอน มีผลการดำเนินงานปรากฏตามเป้าหมาย มีการติดตามตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานตลอดทั้งมีการปรับปรุง และพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนมีการร่วมกันกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นลายลักษณ์อักษร และรับรู้เป็นแนวทางเดียวกัน นำมาปฏิบัติตลอดปีการศึกษา
ดาวน์โหลด
|