บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจที่มีต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะความพึงพอใจที่มีต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๓๒๗ คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ตามลักษณะตัวแปรที่ใช้ คือ t-test และ f-test (One way ANOVA)
ผลการศึกษาพบว่า
๑. ระดับความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการสอนศีลธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า โดยภาพรวม นักเรียนผู้ตอบแบบสอบถาม มีความพึงพอใจต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อยู่ในระดับมาก เรียงจากมากไปหาน้อย คือ ด้านคุณลักษณะของครู ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการวัดผลและประเมินผล ด้านสื่อการสอน ด้านการกำหนดเนื้อหาวิชา และด้านวิธีการสอน
๒. เปรียบเทียบสมมติฐานความพึงพอใจที่มีต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำแนกตามเพศ อายุ และชั้นเรียน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจไม่แตกต่างกัน และจากผลการวิเคราะห์ตัวแปลรายด้าน พบว่า ด้านคุณลักษณะทั่วไปของครู และด้านการวัดผลประเมินผล นักเรียนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ยกเว้นด้านการกำหนดเนื้อหาวิชา ด้านวิธีการสอน ด้านสื่อการสอน และด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนมีความพึงพอใจไม่แตกต่างกัน
๓. ข้อเสนอแนะของนักเรียนที่มีต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา
ผู้วิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ใน ๖ ด้าน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) พบว่า ทั้งโดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมากเหมือนกัน ซึ่งผู้วิจัยถือว่าเป็นผลลับที่ดีและน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังมีบางส่วนในแต่ละด้านที่นักเรียนส่วนน้อยได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข มีดังนี้
๑) ปัญหาและอุปสรรค คือ ครูไม่เป็นกลาง มีความสนิทสนมกับนักเรียนมากเกินไป ไม่มีคุณภาพขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความพร้อมในการสอน ไม่สร้างความคุ้นเคยกับนักเรียน สอนเนื้อหามากเกินไปไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่คอบคุมไม่ชัดเจนไม่เข้ากับปัจจุบัน มีสื่อประกอบน้อย สอนไม่ค่อยเข้าใจ ไม่สนุกสนาน กิจกรรมไม่ค่อยมี
๒) แนวทางการสอนศีลธรรม คือ ครูควรจะทำตัวให้เป็นกลาง อย่าสนิทสนมกับนักเรียนมากเกินไป หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ทำตัวให้น่าเชื่อถือ เตรียมความพร้อมก่นที่จะสอน ปราศรัยทักทายสร้างความคุ้นเคยกับนักเรียน สอนเนื้อหาให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ครอบคลุมและชัดเจน เนื้อหาให้เข้ากับปัจจุบัน ควรจะมีสื่อประกอบ หาแนวทางสอนให้เข้าใจ สร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน กิจกรรมต้องหลากหลาย
ดาวน์โหลด |