หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวสันตการณพิรุณ ปญฺญาวโร (วงศ์กา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์เรื่องเมถุนธรรมในพระวินัยปิฎก (๒๕๔๕)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวสันตการณพิรุณ ปญฺญาวโร (วงศ์กา) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
  ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
  ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕
 
บทคัดย่อ

     การศึกษาเรื่อง “เมถุนธรรมในพระวินัยปิฏก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องเมถุนธรรมที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก ความสัมพันธ์ระหว่างเมถุนธรรมกับการประพฤติพรหมจรรย์และการบรรลุธรรม จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากพระวินัยปิฎก คัมภีร์อรรถกถาและเอกสารวิชาการอื่นๆ ทำให้ทราบว่า เมถุนธรรมนี้คือสภาวะธรรมที่เกิดมาจากราคะหรือ กามฉันทะซึ่งจัดอยู่ในนิวรณ์ ๕ มีลักษณะให้ยึดติดในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสอันเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่เกี่ยวพันกันทางจิต และกามฉันทะนี้จะมาในรูปของกิเลสกามที่เป็นเหตุให้บุคคลยึดติดในวัตถุกาม อันพาไปสู่การประกอบเมถุนสังโยคทั้ง ๗ ประการและกิริยาแห่งการเสพเมถุนธรรมในที่สุดอันได้แก่การมีเพศสัมพันธ์ การมีกิจกรรมทางเพศของบุคคลทั้งสองโดยมีเจตนาเป็นองค์ประกอบ ที่สำคัญ

     พระพุทธศาสนาเป็นหลักของการฝึกฝนจิต การข่มจิตเพื่อให้เห็นถึงโทษของกามมารมณ์ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งเป็นกระบวนการของการขัดเกลาจิตใจเพื่อจะพัฒนาตัวบุคคลทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจและด้านปัญญาให้สอดคล้องกัน เมถุนธรรมเป็นสภาวะที่เป็นอุปสรรคกีดขวางไม่ให้การประพฤติพรหมจรรย์มีความสมบูรณ์ เพราะการประพฤติพรหมจรรย์เป็นกระบวนการของการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ดังนั้นหากต้องการประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์จะต้องควบคุมเมถุนะรรมที่มีอยู่แล้วและป้องกันที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นเมื่อควบคุมได้แล้วก็เข้าสู่กระบวนการทำลายเมถุนธรรมเพื่อให้จิตเป็นอิสระจากทุกข์คือการบรรลุมรรคผล

     การบรรลุมรรคผลอยู่ที่บุคคลนั้นจะสามารถบรรเทาหรือละเมถุนธรรมให้เบาบางลงได้ในระดับที่แตกต่างกัน อย่างพระโสดาบันยังมีการเกี่ยวข้องกับเมถุนธรรมอยู่ พระสกิทาคามีสามารถบรรเทาเมถุนธรรมให้เบาบางลงได้ ส่วนพระอนาคามีกับพระอรหันต์นั้นสามารถละเมถุนธรรมได้อย่างหมดสิ้น เมถุนธรรมนี้เป็นสภาวะที่ทำให้จิตยังไปติดข้องอยู่กับกามฉันทะอันเป็นเหตุให้บุคคลไม่สามารถบรรลุมรรคผลขั้นสูงตามหลักพระพุทธสาสนาได้ เพราะไม่สามารถจะมองเห็นเป็นความเบื่อหน่ายและเป็นเหตุทำให้สัตว์ผู้ยังติดข้องอยู่กับเมถุนธรรมต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร

     ดังนั้น การเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้น ขณะกำลังบวชอยู่ ผู้เข้ามาบวชได้ปฏิญญาที่จะมีเจตนางดเว้นจากเมถุนธรรมหรือเมถุนวิรัติแล้ว แต่เมื่อมีการประกอบเมถุนธรรมขึ้นก็จะเป็นการกระทำผิดซ้ำเข้าไปอีก ถ้าเป็นระดับความผิดเล็กน้อยจะทำให้สภาวะจิตยังติดข้องอยู่ตรงนั้นไม่สามารถมองเห็นเป็นความเบื่อหน่ายได้ แต่ถ้าละเมิดระดับปาราชิกแล้ว สภาวะจิตของผู้นั้นได้ถูกทำลายไปแล้ว จิตใจตกไปสู่อำนาจฝ่ายต่ำแล้ว จึงได้ชื่อว่า ผู้แพ้ (ปาราชิก) และไม่สามารถที่จะพัฒนาจิตให้อยู่ในระดับสูงขึ้นไปได้ นอกจากต้องละภาวะของตนแล้ว มาประพฤติปฏิบัติอุปาสกธรรมอย่างเคร่งครัด จึงจะสามารถพัฒนาจิตของตนสู่ระดับสูงสุดขั้นอนาคามีได้

Download : 254523.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕