วิทยานิพนธ์นี้ ประสงค์จะศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่อง “ความสุข” ในทฤษฎีจริยศาสตร์จของจอห์น สจ็วต มิลล์ กับพุทธจริยศาสตร์ จุดประสงค์หลักเพื่อเปรียบเทียบแนวคิดที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันและแนวคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชีวิตตนเองและสังคมโลกให้มีสันติสุขสืบไป
ในการศึกษาวิจัย ผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาของงานวิจัยออกเป็น ๕ บท ซึ่งแต่ละบทจะอธิบายถึงจุดประสงค์ที่ต้องศึกษา ดังนี้
บทที่ ๑ กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาที่จะวิจัย
บทที่ ๒ ศึกษาแนวคิดเรื่อง “ความสุข” ในทฤษฎีจริยศาสตร์ของจอห์น สจ็วต มิลล์ และแนวคิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อความขัดเจนแห่งแนวคิดดังกล่าว
บทที่ ๓ ศึกษาแนวคิดเรื่อง “ความสุข” ในพุทธจริยศาสตร์ ตลอดถึงแนวคิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
บทที่ ๔ เปรียบเทียบแนวคิดเรื่อง “ความสุข” ของสองทัศนะ เพื่อค้นหาความคล้ายคลึงและความแตกต่างกัน
บทที่ ๕ สรุปการวิจัยที่ค้นพบแล้วนำเสนอผลดังกล่าว พร้อมแนะนำแนวคิดบางประการ เพื่อการวิจัยต่อไป
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
๑. ความเหมือนหรือความคล้ายคลึงกัน
ความสุขในทัศนะของมิลล์ หมายถึง ความรื่นรมย์และการปราศจากความเจ็บปวด เมื่อว่าโดยความหมาย ประเภท ลักษณะ บ่อเกิด ระดับ และเกณฑ์ตัดสินความสุข มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับพุทธจริยศาสตร์ในระดับกามสุขของพุทธจริยศาสตร์เท่านั้น ขณะที่ความสุขในพุทจริยศาสตร์แบ่งออกเป็น ๓ คือ กามสุข ฌานสุข และนิพพานสุข แม้ว่ามิลล์จะเน้นความสุขเช่นเดียวกับพุทธจริยศาสตร์ แต่ความสุขของมิลล์มีความหมายแคบกว่า พุทธจริยศาสตร์มาก
๒. ความแตกต่างกัน
ความสุขในทัศนะของมิลล์ มีความแตกต่างจากพุทธจริยศาสตร์อยู่หลายประเด็น เมื่อว่าโดยความหมาย ประเภท ลักษณะ บ่อเกิด ระดับ และเกณฑ์ตัดสินความสุข
เนื่องจากพุทธจริยศาสตร์ มีแนวคิดเรื่อง “ความสุข” ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าของมิลล์มาก โดยเฉพาะพุทธจริยศาสตร์ยังมีความสุขอีก ๒ อย่าง คือ ฌานสุข และนิพพานสุข โดยที่มิลล์ไม่ได้พูดถึงความสุขสองประเภทนี้เลย ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว ความสุขของมิลล์ เป็นได้เพียงกามสุขหรือโลกิยสุข ของพระพุทธจริยศาสตร์เท่านั้น ถึงแม้ว่ามิลล์จะเน้นประเด็นคุณภาพของความสุขคือเน้นจิตใจก็ตาม ถึงอย่างนั้น ก็ยังอยู่ในขั้นของกามสุขนั่นเอง
อีกประเด็นหนึ่งที่มีความแตกต่าง ก็คือเกณฑ์ตัดสินความดี มิลล์เน้นที่ผลของการกระทำวิธีการจะเป็นเช่นไร ผิดหรือถูกศิลธรรมก็ตาม ถ้าผลออกมาดีคือนำประโยชน์สุขมาให้สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับชีวิต ผิดกับพุทธจริยศาสตร์ที่ยึดถือเจตนาของการกระทำเป็นสำคัญ เช่นถ้าเจตนาของผู้กระทำดี การกระทำย่อมออกมาดี
๓. จุดร่วมที่เหมือนกัน
แนวคิดเรื่อง “ความสุข” ของมิลล์กับพุทธจริยศาสตร์มีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ความสุขที่สองทัศนะพูดถึงนั่น เป็นความสุขของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ความสุขของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมีค่าเป็นหนึ่งเสมอไม่มีใครมีค่าเป็นสอง แม้ว่าเป็นเบื้องต้น พุทธจริยศาสตร์จะให้ความสำคัญกับความสุขส่วนตนคือให้ฝึกพัฒนาตนเอง จนมีความสุขภายในตัวก่อนแล้ว ต่อเมื่อฝึกฝนพัฒนาตนไปโดยลำดับจนบรรลุนิพพานสุขอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธจริยศาสตร์แล้ว จึงจะบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อมหาชนต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวคิดนี้ก็ยังมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือความสุขของส่วนรวม |