บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยจำแนกตาม อายุ พรรษา สถานภาพ และชั้นปี ๓) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะของนิสิตที่มีต่อการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ ๑ – ๔ จำนวน ๓๑๖ รูป การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-test F-test และ ANOVA
ผลของการวิจัยพบว่า
ด้านเนื้อหาการเรียน นิสิตให้ความพึงพอใจเป็นอย่างมากต่อการที่ผู้สอนสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาจากบทเรียนไปแหล่งอื่น ๆ ได้ดี และการที่ผู้สอนเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถเสนอแนะในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพราะทำให้นิสิตมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนหนังสือ
ด้านการเรียนการสอน นิสิตให้ความพึงพอใจต่อการที่ผู้สอนมีรูปแบบบทเรียนกระตุ้นความสนใจของนิสิตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้สอนยังมีการจัดเตรียมกระบวนการเรียนการสอน การจัดห้องเรียนการเตรียมความรู้ ใช้ตำราประกอบการเรียน และมีทักษะในการสอนแบบต่าง ๆได้เหมาะสมกับเนื้อหา
ด้านกิจกรรมส่งเสริมการเรียน นิสิตให้ความพึงพอใจต่อผู้สอนในการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีความน่าสนใจ ชักจูงใจให้นิสิตมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และเข้าร่วมกิจกรรม
ด้านการใช้สื่อ ตามความคิดเห็นของนิสิตพบว่า ผู้สอนมีการใช้สื่อการสอน จำพวกโสตทัศนวัสดุ เพื่อเร้าความสนใจ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น
ด้านแหล่งเรียนรู้ที่แนะนำศึกษาด้วยตนเอง ผลการศึกษาพบว่า การที่มหาวิทยาลัยมีแหล่งเรียนรู้ได้ด้วยตนเองก่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องแก่นิสิต นอกจากนี้นิสิตยังให้ความพึงพอใจต่อการที่มหาวิทยาลัยมีอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมถึงห้องปฏิบัติการมีห้องสมุดที่สมบูรณ์ และตำราที่เป็นภาษาของตนเอง
ด้านวัดผลและประเมินผล ตามความคิดเห็นของนิสิตพบว่า ผู้สอนมีการประเมินผลที่มีความหลากหลาย และมีการวัดผลการเรียนการสอนโดยจะทำการวัดผลเป็นระยะๆ ให้ติดต่อกัน เพื่อให้เกิดความสนใจ ตั้งใจเรียนและยังเป็นการวัดความเข้าใจของนิสิต
เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พบว่า นิสิตที่มีอายุ, ระดับชั้นที่ศึกษา และพรรษาที่ต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนนิสิตที่อยู่ในคณะที่ต่างกันมีความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนที่ต่างกัน
แนวทางจัดการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คือ
๑. ควรจัดอาจารย์เข้าสอนให้ตรงตามสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษาหรือเชิญอาจารย์พิเศษที่ตรงสาขาวิชานั้นๆ มาช่วยสอน
๒. อาจารย์ควรทบทวนเนื้อหาวิชาที่สอน ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ
๓. ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ควรพิจารณา ความเหมาะสมด้านเวลา
๔. ควรมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสอนบ้าง
ดาวน์โหลด |