บทคัดย่อ
การศึกษาระดับความคิดเห็นต่อแรงจูงใจของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน จังหวัดจันทบุรีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นและเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นต่อแรงจูงใจของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน จังหวัดจันทบุรี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน จำนวน ๙๒ คน ใช้เครื่องมือแบบสอบถาม และวิเคราะห์ด้วยสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ Independent Samples t-test, F-test (One-way ANOVA) และเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธี Fisher’s Least-Significant Difference (LSD)
ผลการศึกษาพบว่า
๑. โดยภาพรวมทำให้ทราบว่าพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน จังหวัดจันทบุรี ส่วนใหญ่มีอายุ มากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และนักธรรมชั้นเอกส่วนใหญ่ไม่มีเปรียญธรรม มีอายุพรรษา ๖ – ๑๐ และไม่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ส่วนใหญ่สอนระดับประถมศึกษาตอนปลาย
๒. ระดับความคิดเห็นต่อแรงจูงใจของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน โดยภาพรวมพบว่า
ระดับความคิดเห็นต่อแรงจูงใจภายใน ด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง มากที่สุดเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ด้านความมีอิสระในงาน ด้านการพัฒนาความสามารถของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน และด้านความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว น้อยที่สุดตามลำดับ
ระดับความคิดเห็นต่อแรงจูงใจภายนอก ด้านการยอมรับจากสังคม มากที่สุดเป็นอันดับแรก รองลงมา ด้านการจัดกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรม ด้านเผยแผ่คุณธรรม จริยธรรม ด้านการบำเพ็ญประโยชน์ และด้านการมีส่วนร่วมในโรงเรียน น้อยที่สุดตามลำดับ
ระดับความคิดเห็นต่อแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ด้านความมุ่งสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับแรก รองลงมา ด้านความกล้าเผชิญปัญหา และด้านความกระตือรือร้น น้อยที่สุดตามลำดับ
๓. ผลการวิเคราะห์การเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อแรงจูงใจภายใน แรงจูงใจภายนอก และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕ ได้แก่ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ โดยที่เจ้าคณะตำบลมีแรงจูงใจทั้ง ๓ ด้านสูงกว่าทุกกลุ่ม ส่วนปัจจัยทางด้านอื่น พระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมีแรงจูงใจไม่แตกต่างกัน
ดาวน์โหลด |