บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระสังฆาธิการ ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี (๒) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่พระภิกษุและสามเณรในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน ๒๒๖ รูป ซึ่งผู้ศึกษาทำการสำรวจ (Survey Research) และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaires) แล้วนำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติประกอบด้วยการหาค่าความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัย พบว่า
บทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย ๓.๖๗ เมื่อจำแนกเป็นรายด้านแล้ว พบว่าอยู่ในระดับมากเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านการสาธารณสงเคราะห์ที่อยู่ในระดับปานกลาง
๑. ระดับความคิดเห็นทั้ง ๖ ด้าน
สามารถจำแนกระดับความคิดเห็นทั้ง ๖ ด้านได้ดังนี้ (๑) ด้านการปกครองนั้นมีบทบาทในการจัดประชุมพระภิกษุสามเณรเพื่ออบรมสั่งสอนด้านข้อวัตรปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยมีค่าสูงสุด และมีข้อที่ว่าการบริหารจัดการกิจการของวัดเช่น บัญชีรายรับ-จ่ายให้เป็นไปด้วยดีเป็นอันดับสุดท้าย (๒) ด้านศาสนศึกษามีบทบาทในด้านการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับบาลีและหรือนักธรรมขั้นภายในวัด และมีการจัดหาทุกการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบธรรมสอบบาลีเป็นระดับสุดท้าย (๓) ด้านศึกษาสงเคราะห์มีบทบาทให้ด้านการเป็นครูช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาต่างๆ อยู่ในระดับสูงสุด และมีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์อยู่ในระดับสุดท้าย (๔) ด้านการเผยแผ่นั้นมีบทบาทในด้านการจัดตั้งห้องสมุดภายในวัดเพื่อประโยชน์ในการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรและประชาชน แต่มีการจัดให้มีการบรรยายธรรมทางวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์เป็นลำดับสุดท้าย (๕) ด้านสาธารณูปการ มีการควบคุมดูแลการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดและที่ธรณีสงฆ์อยู่ในระดับสูงสุด และมีการจัดการระบบสาธารณูปโภคภายในวัดเป็นลำดับสุดท้าย (๖) ด้านสาธารณสงเคราะห์มีการบรรเทาช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติเป็นอันดับสูงสุด และมีการจัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราและเด็กที่ถูกทอดทิ้งเป็นข้อสุดท้าย
๒. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ
โดยด้านการปกครองยังมีปัญหามาก เพราะอำเภอทองผาภูมิมีพื้นที่ทุรกันดารอยู่มาก ทำให้การดูแล ติดต่อประสานงานในการทำงานเป็นไปได้โดยยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง ด้านศาสนศึกษา ก็ไม่สามารถจัดหาทุนทรัพย์แก่พระภิกษุสามเณรได้ จึงทำให้สถานศึกษาต่างๆ ของคณะสงฆ์ ด้านศึกษาสงเคราะห์ ก็ยังมีทุนทรัพย์ในการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนกุศลของวัดเพื่อสงเคราะห์เด็กและเยาวชนน้อย ค่อนข้างจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ด้านการเผยแผ่ มีการจัดให้มีการเทศน์และการบรรยายธรรมในวันสำคัญทางศาสนายังมีน้อย ด้านสาธารณูปการ ก็มีความขัดแย้งระหว่างวัดกับชาวบ้าน และ ด้านสาธารณสงเคราะห์ มีการเกื้อกูลต่อสาธารณประโยชน์ยังมีน้อย และบางวัดไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการคณะสงฆ์ได้
พระสังฆาธิการจำต้องให้ความสำคัญกับการติดตามการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ประสานงานในการบริหารคณะสงฆ์อย่างกระตือรือร้น และสามารถปกครองดูแลให้พระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ มติและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้ และควรจัดให้มีกองทุนส่งเสริมทางด้านการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร โดยการจัดหาผู้สนับสนุนด้านปัจจัย เงินทุนและอุปกรณ์ด้านการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณร ส่วนในด้านของการเผยแผ่นั้นควรจัดให้มีการเทศนาและอบรมสั่งสอนให้ประชาชนทั่วไป ในด้านสาธารณูปการนั้นก็ต้องสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างวัดและชาวบ้าน เพื่อให้วัดเป็นที่พึ่งทางใจและเป็นผู้นำสังคมอย่างแท้จริง และควรหมั่นตรวจตราและสอดส่องสิ่งผิดปกติให้กับวัดและชุมชนซึ่งจะทำให้สังคมแข็งแกร่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ดาวน์โหลด |