บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการในอำเภอพระนครศรีอยุธยา ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาของการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ พระสังฆาธิการในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๑๐๑ รูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่และค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการทดสอบค่าที (T-test) โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance : ANOVA) และทำการทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ระดับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการ ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง ( = ๓.๔๕) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านแล้วพบว่า ระดับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการ ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้านร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา และด้านร่วมหาวิธีการแก้ไขปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านร่วมปฎิบัติงาน และด้านร่วมติดตาม ประเมินผล และบำรุงรักษา อยู่ในระดับมาก
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของ พระสังฆาธิการ ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า พระสังฆาธิการที่มีอายุ พรรษา วุฒิการศึกษา(สามัญศึกษา) วุฒิการศึกษาพระปริยัติธรรม(แผนกธรรม) และระยะเวลาสังกัดอยู่ภายในวัด ต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่แตกต่างกัน ส่วนพระสังฆาธิการที่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์และวุฒิการศึกษาพระปริยัติธรรม(แผนกบาลี)ต่างกัน ต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
๓. ปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑) ด้านร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา ปัญหา ได้แก่ เขตโบราณสถานทับซ้อนกับเขตเทศบาลและประชาชนบุกรุกโบราณสถาน ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีการแบ่งเขตโบราณสถานให้ชัดเจน ออกกฎหมายไม่ให้ประชาชนบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน ๒) ด้านร่วมหาวิธีการแก้ไขปัญหา ปัญหา ได้แก่ เจ้าหน้าที่มีส่วนในการทำลายโบราณสถานเพราะเห็นแก่เงินที่ได้รับในการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนโบราณสถาน ข้อเสนอแนะ ได้แก่ กำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตอย่างรุนแรง ๓) ด้านร่วมปฎิบัติงาน ปัญหา ได้แก่ ขาดความรู้ความเข้าใจในการบูรณะ ขาดการประสานงานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรจัดหาผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบูรณะและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลควรมีการประสานงานกับวัดอย่างสม่ำเสมอ ๔) ด้านร่วมติดตาม ประเมินผลและบำรุงรักษา ปัญหา ได้แก่ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น ขาดความรู้ความเข้าใจทางหลักวิชาการและนโยบายที่ชัดเจนในการบำรุงรักษา ข้อเสนอแนะ ได้แก่ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนงบประมาณให้ทั่วถึง หน่วยงานราชการควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการบำรุงรักษาตามสภาพปัจจุบันที่เกิดขึ้น
ดาวน์โหลด
|