บทคัดย่อ
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ๒) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคณะสงฆ์ ในอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จำนวน ๒๓๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ ๐.๙๐ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) และค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และสถิติเชิงอนุมาน คือ สถิติทดสอบค่าที (t-test) สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และทำการทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ระดับประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ย ๓.๓๒ และเมื่อจำแนกเป็นรายด้านแล้วพบว่า ประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ด้านการปกครอง อยู่ในระดับมาก ส่วนประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ด้านอื่นๆอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า พระสงฆ์ที่มีอายุ พรรษา ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและวุฒิการศึกษาแผนกสามัญศึกษา ต่างกันมีประสิทธิภาพในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนพระสงฆ์ที่มีวุฒิการศึกษาแผนกนักธรรมและวุฒิการศึกษาแผนกบาลี ต่างกัน มีประสิทธิภาพในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐาน ที่ตั้งไว้
๓. ปัญหาและข้อเสนอแนะในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ อำเภอเมืองจังหวัดลพบุรี
๑) ด้านการปกครอง ปัญหา ได้แก่ การประชุมพระภิกษุสามเณรเพื่ออบรมสั่งสอนด้านวัตรปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยไม่สม่ำเสมอไม่เปิดโอกาสให้ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นต้น ข้อเสนอแนะ ได้แก่ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นบ้าง เป็นต้น
๒) ด้านการศาสนศึกษา ปัญหา ได้แก่ การตรวจตราเยี่ยมเยียนสำนัก ศาสนศึกษาไม่เป็นไปอย่างทั่วถึง ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีการส่งเสริมให้พระสงฆ์ทุกวัดได้เรียนพระธรรมวินัยอย่างเป็นประจำ ๓) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ปัญหา ได้แก่ การตั้งทุนสงเคราะห์การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนทุกระดับชั้น ยังมีอยู่น้อยมาก ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีการจัดตั้งทุนให้พระภิกษุสามเณรนำไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ๔) ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัญหา ได้แก่ การเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมตามหลักธรรมคำสอนขอพระพุทธศาสนาไม่ค่อยได้รับความนิยมในวัด ต่างจังหวัด ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าถึงตามสถานที่ต่างๆให้มากกว่านี้ เป็นต้น ๕) ด้านการสาธารณูปการ ปัญหา ได้แก่ การวางแผนในการก่อสร้างอาคารเสนาสนะภายในวัดไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลการวางแผนในการก่อสร้างอาคารเสนาสนะภายในวัดโดยเฉพาะ ๖) ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ปัญหา การจัดทำถนนภายในวัดให้สะดวกแก่การสัญจรไปมาไม่ได้รับงบประมาณที่พอเพียง ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีการกำหนดแผนงานในด้านการสาธารณะสงเคราะห์เป็นประจำ
ดาวน์โหลด |