บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษารูปแบบการเผยแผ่ธรรม โดยใช้สื่อทางศิลปกรรมของวัดไผ่โรงวัว (๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อบทบาทการเผยแผ่ธรรมะของวัดไผ่โรงวัว โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อบทบาทการเผยแผ่ธรรมของวัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ประชากร ที่ใช้ในการศึกษาคือ ประชาชนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดไผ่โรงวัว จำนวน ๒๙๓ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมา โดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๙๕๑๕ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบค่าเอฟ (F-Test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way analysis of variance)โดยใช้วิธีของ One Way Anova
ผลการวิจัยศึกษาพบว่า
๑. บทบาทการเผยแผ่ธรรมของวัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี จากการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ ๓๑-๔๐ ปี น้อยที่สุดอายุ ๖๑ ปีขึ้นไป อาชีพส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม น้อยสุดอาชีพธุรกิจ ระดับการศึกษา ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาชั้นมัธยม น้อยสุดระดับอนุปริญญา
๒. การเปรียบเทียบ บทบาทการเผยแผ่ธรรมของวัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี จากการศึกษาพบว่า ประชาชนที่มีเพศ มีอายุ มีอาชีพ มีระดับการศึกษาต่างกัน มีความคิดเห็นต่อบทบาทการเผยแผ่ธรรมของวัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่แตกต่างกัน
๓. ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล สำหรับผู้เผยแผ่ยังมีไม่เพียงพอต่อผู้เข้ารับการอบรม ข้อเสนอแนะต้องสร้างทรัพยากรบุคคล ให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะด้านภาษาต่าง ประเทศเพื่อสนับสนุนในด้านการเผยแผ่ให้มีปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แนวทางพัฒนาจัดส่งพระภิกษุเข้ารับการศึกษาอบรมในทุกระดับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่ ที่โดดเด่น ด้านการก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ภายในวัดไผ่โรงวัว เมืองนรกเมืองสวรรค์ และศิลปกรรมภายในวัดมีคติธรรมแทรกสอนทุกที่ โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่เป็นพุทธศิลป์ การประชาสัมพันธ์ของทางวัดที่มีต่อสาธารณชนยังมีน้อยมากโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องพุทธศิลปวัตถุ ที่พระเดชพระ คุณ พระครูอุภัยภาดาทร (หลวงพ่อขอม อนิโช) อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่โรงวัว สร้างไว้เป็นมรดกอันล้ำค่า พุทธศิลปวัตถุเหล่านั้นมีประโยชน์และมีคุณค่าสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นแหล่งสืบค้นพุทธธรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ควรที่จะมีผู้เข้ามาทำงานวิจัยเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์แหล่งสืบค้นพุทธธรรม ที่มีการแสดงออกทางรูปธรรมของวัดไผ่โรงวัว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางกว่าปัจจุบันนี้ พุทธศิลปวัตถุเป็นสื่อรูปธรรมที่ต้องมีการบำรุงรักษา บูรณะซ่อมแซม และหากปล่อยให้ชำรุด การสื่อคติธรรมก็จะขาดความสมบูรณ์ จนพุทธศิลปวัตถุถูกมองข้ามคุณค่า จะนำไปเทียบได้เพียงเศษกองอิฐกองทราย หรือเศษโลหะ ที่คนเข้ามาเที่ยวต่างมองแล้วเมิน ปล่อยให้ทอดทิ้งเป็นเศษขยะของวัด ทางวัดและประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมควรร่วมกันอนุรักษ์พุทธศิลปะวัตถุทั้งหลายในวัดไผ่โรงวัว ให้อยู่ได้นานที่สุด เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับความรู้ต่อไป รูปแบบการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนทำบุญแต่ละแห่ง ควรมีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ควรเน้นเรื่องเชิญชวนให้ประชาชน บริจาคทรัพย์ สินเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว หรือมุ่งธุรกิจเชิง “พุทธพานิช” จนเกินไป ควรหาผู้มีความรู้และเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเพียงพอ มาทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ที่มาแสวงบุญเกิดความรู้ความเข้าใจในการทำบุญหรือเกิดปัญญาอย่างพอเพียง ให้สมกับเจตนารมณ์และคำปฏิญาณของ พระครูอุภัยภาดาทร (หลวงพ่อขอม อนิโช) ที่ว่า “ชีวิตเราที่เหลืออยู่ ขอช่วยพระพุทธองค์ไปจนตาย” และข้อที่ว่า “เมื่อมีชีวิตอยู่ ถ้าเรามีเงินส่วนตัวสักหนึ่งบาท เราจะอายพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง”
ดาวน์โหลด |