หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาปัญญา ชยปญฺโญ (ดาบพลหาร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๒ ครั้ง
กาเมสุมิจฉาจารกับปัญหาจริยธรรมในสังคมปัจจุบัน (๒๕๓๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาปัญญา ชยปญฺโญ (ดาบพลหาร) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๐๖/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๖
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษา “กาเมสุมิจฉาจารกับปัญหาจริยธรรมในสังคมปัจจุบัน” ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาจริยธรรมในสังคมที่มีมูลเหตุมาจากพฤติกรรมทางเพศที่ผิดศีลข้อที่ ๓ ในพุทธปรัชญา คือศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร วิทยานิพนธ์ ได้แบ่งออกเป็น ๖ บท คือ
           ๑. บทนำ
           ๒. ความหมาย องค์ประกอบ และมูลเหตุของกาเมสุมิจฉาจาร
           ๓. พฤติกรรมที่ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร
           ๔. ปัญหาและผลกระทบของกาเมสุมิจฉาจาร
           ๕. พุทธวิธีในการแก้ปัญหาเรื่องกาเมสุมิจฉาจาร
           ๖. สรุปและเสนอแนะ

           ผลการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ พบว่าพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลในสังคม ปัจจุบัน ที่ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารมีมากมายในลักษณะต่าง ๆ และอยู่ในข่ายของการประพฤติผิดข้อนี้อีกหลายประการ อีกทั้งยังได้พบสาเหตุแห่งปัญหาจริยธรรม และปัญหาอาชญากรรมหลายอย่าง ซึ่งพอจะสรุปผลของการวิจัยดังนี้ คือ
           ๑. คำว่า “กาเมสุมิจฉาจาร” มีความหมายและรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ ในอรรถกถา มังคลัตถทีปนี ได้กล่าวไว้ว่า คำว่า “กาเมสุ” ได้แก่ การประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดีในการกระทำของคนคู่กันทั้งหลาย คำว่า “มิจฉาจาร” ได้แก่ความประพฤติที่ลามก ที่บัณฑิตทั้งหลายติเตียนโดยส่วนเดียว และประกอบด้วยเจตนา ที่จะล่วงละเมิดองค์ประกอบ ที่เป็นไปในทางกายทวาร โดยมุ่งการเสพอสัทธรรม คือ เพศสัมพันธ์ จึงได้ชื่อว่า “กาเมสุมิจฉาจาร”
 ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “กาเมสุมิจฉาจาร” หมายถึง การประพฤติผิดในประเวณี สำหรับความหมายจากพระไตรปิฎกนั้นคำว่า “กาเมสุ” ได้แก่กิเลสกามและวัตถุกาม   คำว่า “มิจฉาจาร” ได้แก่    ความประพฤติที่ลามก   ที่บัณฑิตทั้งหลาย ติเตียนโดยส่วนเดียว และได้แสดงโทษของกาเมสุมิจฉาจารไว้ว่ามีโทษน้อย เพราะมีพฤติกรรมทางเพศกับบุคคลที่ปราศจากคุณธรรมมีศีลเป็นต้น มีโทษมากเพราะมีพฤติกรรมทางเพศกับบุคคลมีคุณธรรมมีศีลเป็นต้น
           ๒. ศีลข้อ กาเมสุมิจฉาจาร มีกฎเกณฑ์การตัดสินพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์เพื่อวินิจฉัยว่า การมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะใด ที่ถือว่าเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางเพศ และการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะใดที่ถือว่าไม่เป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางเพศ ตามหลักจริยธรรมในพุทธปรัชญาโดยให้พิจารณาองค์ประกอบที่เป็นเงื่อนไขในการตัดสินว่าผิดหรือถูก ๔ ประการ คือ
           ๑. อคมนียวตฺถุ คือ บุคคลที่ต้องห้ามในเรื่องมีเพศสัมพันธ์
           ๒. ตสฺมึ เสวนจิตฺตํ คือ มีเจตนาที่จะมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลต้องห้ามนั้น
           ๓. เสวนปฺปโยโค คือ มีความพยายามที่จะมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลต้องห้ามนั้น
           ๔. มคฺคปฺปฏิปตฺติอธิวาสนํ คือ ได้มีเพศสัมพันธ์กันขึ้น 
           ถ้าหากพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ของบุคคลใดครบตามองค์ประกอบทั้ง๔ ประการนี้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น ได้ประพฤติผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ตามหลักจริยธรรมในพุทธปรัชญา  แต่ถ้าหากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ผิดองค์ประกอบข้อที่ ๑ ดังกล่าวมาแล้ว ก็ถือว่า เป็นไปตามธรรมดาของสามัญชน ในองค์ประกอบ ทั้ง ๔ ข้อนั้น องค์ประกอบข้อที่ ๑ คือ “อคมนียวตฺถุ” หมายถึงบุคคลที่ต้องการห้ามในเรื่องเพศสัมพันธ์นั้น แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ เพศหญิงและเพศชาย ซึ่งมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ดังนี้ คือ 
           อคมนียวตฺถุ สำหรับฝ่ายชาย คือ หญิงที่ต้องห้ามในเรื่องเพศสัมพันธ์สำหรับฝ่ายชายมี ๓ ประเภทใหญ่ ๆ แยกออกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้ ๒๐ ประเภท คือ
            ๑. หญิงที่เป็นภรรยาของชายอื่น  มี ๑๐ ประเภท
            ๒. หญิงที่อยู่ในข่ายภรรยาอีก มี   ๒  ประเภท
            ๓. หญิงที่มีผู้ปกครองดูแลอีก  มี   ๘  ประเภท
           อคมนียวตฺถุ สำหรับฝ่ายหญิง คือ ชายที่ต้องห้ามในเรื่องเพศสัมพันธ์ สำหรับหญิงมี ๒ ประเภท คือ
            ๑. ชายที่เป็นสามีของหญิงอื่น
            ๒. ชายที่เป็นนักบวช
            ๓. สำหรับมูลเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทางเพศ ที่ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารนั้น มีหลายประการซึ่งพอจะสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ๒ ประการ คือ
            ๑. องค์ประกอบภายใน  คือ  กิเลสตัณหาที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจเรียกว่า
กิเลสกาม
            ๒. องค์ประกอบภายนอก คือ สิ่งแวดล้อมคือตัวบุคคล โอกาสที่เอื้ออำนวย ค่านิยม เรียกว่า วัตถุกาม
           ๔. พฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ มีผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ในสังคมปัจจุบัน มีหลายกรณี  ซึ่งบางกรณีก็ผิดเพียงสถานะเดียว บางกรณีก็ผิดหลายสถานะ หรือ บางกรณีก็ผิดเพียงฝ่ายเดียว บางกรณีก็ผิดทั้งสองฝ่าย บางกรณีก็ผิดมาก บางกรณีก็ผิดน้อย พฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่ถือว่าเป็นการประพฤติผิดมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๔ ประการ  เป็นเครื่องตัดสินในพุทธปรัชญา
           ๕. ในงานวิจัยนี้ได้เสนอทรรศนะเพื่อการแก้ไขและป้องกันพฤติกรรมที่ผิดศีลข้อ
กาเมสุมิจฉาจารไว้ ซึ่งพอจะสรุปประเด็นที่สำคัญ ๆ ไว้ ๒ ประการ คือ 
            ๑. แก้ไขที่องค์ประกอบภายใน คือการแก้ไขกิเลสตัณหาภายในจิตใจโดยการศึกษาหลักจริยธรรมในพุทธปรัชญา และสร้างจิตสำนักในการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมในพุทธปรัชญา เพื่อขัดเกลากิเลสตัณหาอันเป็นต้นตอของพฤติกรรมทางเพศให้ลดลงหรือให้อยู่ในขีดจำกัดตามหลักจริยธรรม
            ๒. แก้ที่องค์ประกอบภายนอก คือ การแก้ไขที่สิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุ และแก้ไขที่ค่านิยมทางเพศสัมพันธ์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตกและเสริมสร้างคุณธรรมของชีวิตทางด้านจริยธรรม การเมือง การปกครอง และการพัฒนาเศรษฐกิจของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและโรคภัยต่าง ๆ 
           การแก้ไขพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ ที่ผิดศีล ข้อกาเมสุมิจฉาจาร ดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยองค์กรของทั้งภาครัฐบาล และภาคของเอกชน โดยสร้างอุดมการณ์ร่วมกันว่า “จะขจัดปัญหาจริยธรรมทางเพศสัมพันธ์” ให้หมดไปจากสังคมปัจจุบันด้วยวิธีการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมในพุทธปรัชญา

Download : 253603.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕