หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระใบฎีกาณัฏฐพร ฐานวุฑฺโฒ
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
บทบาทพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม
ชื่อผู้วิจัย : พระใบฎีกาณัฏฐพร ฐานวุฑฺโฒ ข้อมูลวันที่ : ๑๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพล สุยะพรหม, ป.ธ.๔, พ.ม., พธ.ม., M.A., Ph. D. (Pol. Sc.)
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ, ประโยค ๑ – ๒, น.ธ.เอก, พธ.บ.(เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง), ศศ.ม.(พัฒนาสังคม)
  อาจารย์ ดร.พิเชฐ ทั่งโต พ.ม.ช., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Public. Admint.)
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                  การศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ (๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม (๒) เพื่อเปรียบเทียบบทบาทของพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐมโดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓)เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะบทบาทของพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม

             โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ พระภิกษุในจังหวัดนครปฐม จำนวน ๓๔๗ รูป ซึ่งผู้ศึกษาทำการสำรวจ (Survey Research) และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaires)  แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์เพื่อหาค่าความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)  รวมทั้งเปรียบเทียบบทบาทพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ( ) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าเอฟ ( F test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) การทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)

 

 

ผลการวิจัย  พบว่า

              ๑. บทบาทพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละด้านพบว่า พระสงฆ์มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม อยู่ในระดับมากทุกด้าน คือ (๑) ด้านการเผยแผ่ในรูปแบบการอบรม (๒) ด้านการเผยแผ่ในรูปแบบทั่วไป (๓) ด้านการเผยแผ่ในรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ  (๔) ด้านการเผยแผ่ในรูปแบบสื่อต่างๆ

                  ๒. ผลการเปรียบเทียบบทบาทพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่าพระสงฆ์ที่มี อายุ พรรษา ตำแหน่ง วุฒิการศึกษาสามัญ วุฒิการศึกษานักธรรม วุฒิการศึกษาเปรียญ และประสบการณ์ในการทำงาน แตกต่างกัน อีกทั้งยังพบว่า พระสงฆ์ที่มีปัจจัยส่วนบุคคลดังกล่าวแตกต่างกันนั้น มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ .๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

                  ๓. ในด้านปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อบทบาทของพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม พบว่า ปัญหาและอุปสรรคของพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดังกล่าว มีดังนี้ (๑) พระสงฆ์ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่พระสงฆ์จะเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา (๒) ขาดการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรของคณะสงฆ์เอง รวมทั้งจากหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  (๓) ประชาชนไม่มีความเข้าใจในการที่พระสงฆ์เข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ (๔) อุปกรณ์ในการให้ความสะดวกแก่พระสงฆ์ในการอบรมหรือในการเผยแผ่มีน้อย ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม ดังนี้ (๑) เจ้าคณะผู้ปกครองควรมีการทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆที่พระสงฆ์จะเข้าไปทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือควรมีการปรึกษา ประชุมเพื่อทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น (๒) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนงบประมาณในการเผยแผ่อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ชัดเจน (๓) พระสงฆ์ควรทำความเข้าใจกับประชาชน และทำความสนิทสนม เพื่อให้ประชาชนเปิดรับสิ่งที่พระสงฆ์จะมอบให้ และ (๔) ควรมีการสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อการเผยแผ่ รูปแบบของการเผยแผ่บางรูปแบบ อุปกรณ์มีความจำเป็นอย่างมากในการสื่อสารกับผู้รับการเผยแผ่

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕