การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครองในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล ๒) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครองในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครองในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศึกษาวิจัยโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ พระสงฆ์ ในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๒๓๐ รูป โดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามทั้งปลายปิดและปลายเปิด ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดย การทดสอบค่าที (t-test) และค่า เอฟ (F-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way analysis of variance)
ผลการวิจัยพบว่า
๑) การบริหารกิจการคณะสงฆ์ได้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล หลักที่ใช้ในการบริหารครั้งนั้น คือ พระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าทรงปกครองคณะสงฆ์โดยธรรมาธิปไตย กล่าวคือ ทรงแสดงธรรมและบัญญัติพระวินัย เพื่อการบริหารกิจการคณะสงฆ์และการพระพุทธศาสนาปัจจุบันการบริหารกิจการคณะสงฆ์ เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๕ ข้อที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ได้แก่ หน้าที่การปกครองคณะสงฆ์ต้องถือเป็นธุระหน้าที่ เพราะการที่คณะสงฆ์และการพระศาสนา หรือเพราะเกี่ยวกับการคณะสงฆ์และการพระศาสนามี ๖ ด้าน คือ ๑) การปกครอง ๒) การศาสนศึกษา ๓) การศึกษาสงเคราะห์ ๔) การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕) การสาธารณูปการ ๖) การสาธารณสงเคราะห์
๒) ผลการเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของพระภิกษุ ที่มีต่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครองในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า พระภิกษุที่มีอายุ พรรษา ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ และวุฒิการศึกษาทางธรรมต่างกันมีความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครองในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่แตกต่างกัน ส่วนพระภิกษุที่มีวุฒิการศึกษาทางเปรียญธรรม และวุฒิการศึกษาทางสามัญต่างกัน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครองในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๓) ผลการศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครองในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า พระสงฆ์บางรูปไม่เข้าใจพระธรรมวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์ และผู้ปกครองขาดการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณร มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วางกฎระเบียบและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางการปกครอง เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การอบรมพระภิกษุสามเณรให้มีสมณสัญญาและการอบรมในเรื่องพระธรรมวินัย จรรยา มารยาทในการปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องด้วยพิธีหรือแบบอย่างที่ดี และมีการดูแลพระสงฆ์ภายในวัดอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันและเป็นธรรม รวมทั้งการยกย่องพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ
ดาวน์โหลด |