บทคัดย่อ
การวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (๑) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (๒) เปรียบเทียบความพึงพอใจที่มีต่อการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดย จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล คือ เพศ อายุ ระดับช่วงชั้นเรียน ระดับชั้นเรียนธรรมศึกษา และขนาดโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเกี่ยวกับการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้มีประสิทธิภาพ ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับประชากรกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนธรรมศึกษา ระดับธรรมศึกษาชั้นตรี ธรรมศึกษาชั้นโท และธรรมศึกษาชั้นเอก ในโรงเรียนอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวน ๒๒ โรงเรียน ใช้กลุ่มตัวอย่าง ๓๑๖ คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่าที (t-test) ในกรณีตัวแปรสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ในกรณีตัวแปรสามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ๓.๘๙ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านทั้ง ๕ ด้าน คือ (๑)ด้านการใช้อุปกรณ์ในการสอน (๒)ด้านการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน (๓)ด้านการใช้วิธีการเผยแผ่ (๔)ด้านอุปกรณ์และสื่อเทคโนโลยี และ (๕)ด้านรูปแบบวิธีการเผยแผ่ พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒) ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจที่มีต่อการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล คือ เพศ อายุ ระดับช่วงชั้นเรียน ระดับชั้นเรียนธรรมศึกษา และขนาดโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ พบว่า นักเรียนธรรมศึกษาที่มีอายุ ระดับช่วงชั้นเรียน และขนาดโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนนักเรียนธรรมศึกษาที่มีเพศ และระดับชั้นเรียนธรรมศึกษาต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนไม่แตกต่างกัน โดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่กำหนดไว้ จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเกี่ยวกับการเผยแผ่ธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีประสิทธิภาพ พบว่า
มีปัญหาอุปสรรคดังนี้ คือ (๑) ด้านการใช้อุปกรณ์ในการสอน เช่น ไม่ค่อยมีอุปกรณ์มาใช้ช่วยในการสอน (๒) ด้านการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน เช่น ไม่มีห้องเรียนที่มีบริบทด้านการส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรมโดยเฉพาะ (๓) ด้านการใช้วิธีการเผยแผ่ เช่น ไม่ค่อยมีการวัดความรู้นักเรียนก่อนและหลังการเรียน (๔) ด้านอุปกรณ์และสื่อเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์และสื่อเทคโนโลยีไม่ค่อยมีความทันสมัย และ (๕) ด้านรูปแบบวิธีการเผยแผ่ เช่น ไม่ค่อยมีการสาธิตหรือการยกตัวอย่างเปรียบเทียบประกอบ
สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาดังนี้ คือ (๑) ด้านการใช้อุปกรณ์ในการสอน เช่น ควรมีการใช้และปรับปรุงอุปกรณ์สื่อในการสอนให้มีความทันสมัย (๒) ด้านการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน เช่น ควรสนับสนุนให้มีการจัดห้องส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรมโดยเฉพาะเพื่อให้รู้สึกเข้าถึงพระรัตนตรัยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น (๓) ด้านการใช้วิธีการเผยแผ่ เช่น ควรมีการทดสอบความรู้นักเรียนก่อนและหลังการเรียนบ้าง (๔) ด้านอุปกรณ์และสื่อเทคโนโลยี เช่น ควรมีการค้นคว้าพัฒนานวัตกรรมการสอนให้มีความหลากหลาย ตรงตามความต้องการของผู้เรียน และ (๕) ด้านรูปแบบวิธีการเผยแผ่ เช่น ควรมีการสาธิตหรือยกตัวอย่างประกอบบ้าง เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ดาวน์โหลด |