การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและรูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ในการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักพระพุทธศาสนา และ (๓) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเจ้าอาวาสในจังหวัดนครปฐม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีการรวบรวมเอกสารวิชาการ พระไตรปิฏก และศึกษาวิจัยภาคสนาม โดยอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับเจ้าอาวาส ๔ วัด และเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า
๑. พระพุทธเจ้าทรงดำรงชีพเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติมาโดยตลอด เห็นได้จากพระองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และสถานที่แสดงธรรมล้วนอยู่ในป่า สถานที่พำนักของพระพุทธเจ้าและพระสาวก คือ ป่า ภูเขา โคนไม้ ถ้ำ ป่าช้า และยังมีข้อปฏิบัติสำหรับอยู่ป่าให้เหมาะสมอีก เมื่อการดำเนินชีวิตมีความเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแยกจากกันมิได้ พระองค์ทรงมองเห็นประโยชน์และความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ทรงวางรูปแบบการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้พระสงฆ์สาวกศึกษาและปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒. บทบาทที่สำคัญของพระสงฆ์คือการสืบทอดพระพุทธศาสนา มีหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชน โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิต ดังจะ เห็นได้จากการพัฒนาความเจริญต่าง ๆ ของท้องถิ่น มักจะมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ เพราะวิถีชีวิตของพระสงฆ์มีความเป็นอยู่เรียบง่าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนเป็นอย่างดี
๓. ในมุมมองของเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสที่ให้สัมภาษณ์ ท่านใช้วิธีการบริหารจัดการตามหลักการของอดีตเจ้าอาวาส และประสบการณ์ที่ได้ประสบมา เป็นวิธีการในการบริหารจัดการ คือ การดูแล ซ่อมแซม รักษาสิ่งที่มีอยู่ให้คงสภาพที่จะใช้งานได้ หรือสร้างใหม่เพื่อทดแทนของเก่าที่หมดสภาพไปตามกาลเวลา แต่ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบและสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เก่าก่อน หรืออาจเป็นแบบไทยประยุกต์เพื่อเป็นการอนุรักษ์รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีคุณค่า เพื่อเป็นมรดกสู่ชนรุ่นหลัง
ดาวน์โหลด |