บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)ซึ่งศึกษากับกลุ่มประชาชนที่มาท่องเที่ยววัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน ๔๐๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ ๒ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร และ ตอนที่ ๓ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าที (t-test) และการทดสอบค่าเอฟ(F-test) โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way Anova) ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธี LSD (Least Significant Difference)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ระดับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับได้ดังนี้ ๑.ด้านการพัฒนากิจกรรมภายในวัด ๒.ด้านการพัฒนาศาสนสถาน ๓.ด้านการพัฒนาศาสนบุคคลหรือบุคลากรในวัด และ ๔.ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
๒. การวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล โดยภาพรวม ประชาชนที่มีเพศและจำนวนครั้งในการมาท่องเที่ยววัด ที่ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร ไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนประชาชนที่มีอายุ วุฒิการศึกษา อาชีพและรายได้ ที่ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธในจังหวัดสมุทรสาคร แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓ ปัญหาส่วนใหญ่ในการพัฒนาวัด คือ ปัญหาเกี่ยวกับความสะอาด ขยะมูลฝอย มูลสุนัข มูลนก ห้องน้ำห้องสุขาไม่ค่อยสะอาด มีต้นไม้น้อยไม่ค่อยร่มรื่น เจ้าหน้าที่ของทางวัดที่ทำความสะอาด หรือทำงานในจุดต่างๆ มีน้อย ทั้งยังแต่งกายไม่ค่อยสุภาพ และปัญหาในเรื่องของกิจกรรมในวัดซึ่งมีการประชาสัมพันธ์น้อย จัดไม่ตรงกับวันหยุด จึงทำให้ไม่ทราบเรื่องและไม่สะดวกในการมาร่วมกิจกรรม
ข้อเสนอแนะในการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธ ควรมีการจัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดและเจ้าหน้าที่ประจำในจุดต่างๆ ให้มากขึ้น และแต่งกายให้เรียบร้อย ในเรื่องการพัฒนาศาสนสถาน หากมีการสร้างใหม่ควรมีการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก มีการวางผังใหม่ให้ดี มีการปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความร่มรื่นและเป็นการทำให้ภูมิทัศน์ของวัดสวยงาม น่ารื่นรมย์ การจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง และมีการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ของวัดให้สมบูรณ์ เพราะหากวัดมีความพร้อมในการรองรับประชาชนที่มาวัดแล้ว ย่อมทำให้ประชาชนมาวัดแล้วเกิดศรัทธา เกิดความยินดี เกิดความสุขใจ มาทำบุญ ทำกุศลต่างๆ พร้อมทั้งการมาพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงพุทธได้
ดาวน์โหลด |