บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการของเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ตามความคิดเห็นของพระสงฆ์และกรรมการวัด (๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสงฆ์ และกรรมการวัดต่อการบริหารจัดการของเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ตามปัจจัยส่วนบุคคล (๓) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการของเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบ ถามกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสงฆ์และกรรมการวัด ในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทั้งหมดจำนวน ๔๕๘ รูป/คน ได้มาจากการใช้ตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกน เพื่อกำหนดขนาดตัวอย่าง ที่ความเชื่อมั่น ๙๕ % เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามซึ่งเป็นแบบตรวจสอบรายการ แบบมาตราส่วนประเมินค่า และแบบคำถามปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อบรรยายข้อมูลคุณลักษณะส่วนบุคคลหรือตัวแปรต้น และใช้สถิติทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Seheffe’)
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
๑) ระดับความคิดเห็นของพระสงฆ์และกรรมการวัด ต่อการบริหารจัดการของ เจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอแพงแสน จังหวัดนครปฐม พบว่า การบริหารจัดการของเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๒ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ทั้งด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านการสาธารณูปการ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ พบว่า พระสงฆ์และกรรมการวัด มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการของเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒) การเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสงฆ์และกรรมการวัด ต่อการบริหารจัดการของเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอแพงแสน จังหวัดนครปฐม พบว่า ในภาพรวม พระสงฆ์และกรรมการวัดมีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการของเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันตามสถานภาพพระสงฆ์ด้านอายุพรรษา วุฒิการศึกษาสามัญ วุฒิการศึกษาทางธรรม สถานภาพกรรมการวัด ด้าน อายุ และวุฒิการศึกษาสามัญ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓) ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา พบว่า ด้านการปกครองควรมีการกระจายอำนาจให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นงานด้านการปกครองและด้านอื่น ๆ ด้านการศาสนศึกษา ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และจิตใจที่เสียสละเข้ามาทำงานด้านนี้ จึงควรจัดหาครูที่มีความรู้ความสามารถมาสอน ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ยังไม่มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ จึงควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติแผนกสามัญและจัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การจัดให้มีการบรรยายธรรมทางวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีโทรทัศน์ ซึ่งยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการเผยแผ่ธรรมอยู่พอสมควร ควรจัดตั้งศูนย์การปฏิบัติธรรมภายในวัดพร้อมทั้งมีอาจารย์สอนปฏิบัติธรรมที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ด้านการสาธารณูปการ ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ควรจัดตั้งคณะกรรมการวัดร่วมกับพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถมาจัดทำแผนพัฒนาวัดอย่างเป็นระบบมีแบบแผนที่ชัดเจน ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ต้องให้ความสำคัญในการสงเคราะห์ด้านจิตใจแก่ประชาชนในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน
ดาวน์โหลด |