วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษากฐินและจุลกฐินในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาจุลกฐินในล้านนา (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์จุลกฐินของวัดอนาลโยทิพยาราม ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ ดังมีรายละเอียดดังนี้
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าในพระไตรปิฎกไม่มีการกล่าวถึงจุลกฐินโดยตรง แต่มีเรื่องราวในอรรถกกถาธรรมบท แห่งขุททกนิกาย ว่า ครั้งหนึ่งใกล้จะสิ้นสุดกฐินกาลแล้วและพระอนุรุทธะมีจีวรอันเก่าขาดมาก พระพุทธเจ้าจึงให้สงฆ์ช่วยกันหาผ้าบังสุกุลแต่ก็ไม่เพียงพอ นางเทพธิดาจึงได้เนรมิตผ้าทิพย์มาสมทบให้ ครั้งนั้นก็ได้ช่วยกันทำจีวรอย่างเร่งด่วนเป็นการใหญ่ นี่คือมูลเหตุแห่งจุลกฐินในเวลาต่อมา ส่วนจุลกฐินในล้านนามีตำนานมาจากเมืองเชียงตุง ซึ่งกล่าวถึงที่มาของจุลกฐินคล้ายกันกับเรื่องราวในคัมภีร์อรรถกถา
ประเพณีจุลกฐินนั้น พบเฉพาะในภาคอีสานและในภาคเหนือเท่านั้นและในอดีตพิธีบุญจุลกฐินไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน สำหรับจังหวัดพะเยาไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดงานจุลกฐินมาก่อน จนกระทั่งวัดอนาลโยทิพยารามได้เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ด้วยความดำริของพระเทพวิสุทธิญาณ (พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล) ที่ต้องการอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดให้มีประเพณีจุลกฐินล้านนาต่อไปในอนาคต จึงได้ดำเนินการจัดพิธีจุลกฐินวัดอนาลโยทิพยารามขึ้นจนถือเป็นประเพณีประจำปีของวัด โดยจัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีขั้นตอนพิธีการที่สำคัญ ๓ คือ เริ่มจากพิธีปลูกฝ้ายซึ่งจัดในวันวิสาขบูชา จากนั้นจัดพิธีรดน้ำดูแลต้นฝ้ายในวันเข้าพรรษา และพิธีจุลกฐินใหญ่จะจัดในช่วงเทศกาลออกพรรษา ซึ่งขั้นตอนพิธีทางพระพุทธศาสนาไม่แตกต่างกับจุลกฐินโดยทั่วไป จุดเด่นสำคัญคือการประยุกต์การจัดงานจุลกฐินให้เข้ากับวัฒนธรรมล้านนาและเพิ่มพิธีการล่วงหน้า ๒ พิธีดังกล่าวเพื่อสร้างความสามัคคีให้กับเจ้าภาพและชาวบ้านในชุมชนอย่างต่อเนื่องก่อนจัดให้มีพิธีถวายผ้าจุลกฐินในขั้นตอนสุดท้ายซึ่งจัดเป็นงานประเพณีอย่างยิ่งใหญ่
ผลการศึกษาพบว่างานจุลกฐินของวัดอนาลโยทิพยารามมีคุณค่าในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ซึ่งได้ก่อให้เกิดความสามัคคีในทุกภาคส่วน การจัดพิธีปลูกฝ้ายและพิธีรดน้ำดูแลต้นฝ้ายล่วงหน้าถึง ๖ เดือนก่อนจะจัดพิธีจุลกฐินใหญ่ เป็นบ่อเกิดแห่งความร่วมมือในด้านต่างๆ ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีคุณค่าด้านการศึกษา คือให้ผู้ที่มาร่วมงานรวมถึงเยาวชนได้เห็นถึงวิธีการขั้นตอนการทำผ้าจุลกฐิน ส่วนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น กาดหมั้ว การแสดงดนตรี การฟ้อนรำแบบล้านนา ก็ถือเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามแก่นักท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเยาวชนในท้องถิ่นให้แสดงออกในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านจากการขายของที่ระลึก ประเพณีจุลกฐินวัดอนาลโยทิพยารามยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดพะเยาอีกด้วย
Download |