วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับพิธีศพในพระพุทธศาสนาและเพื่อศึกษาคุณค่าของพิธีปอยล้อในล้านนา โดยอ้างอิงถึงพระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวง กตปุญฺโญ) การศึกษาครั้งนี้เป็นเชิงคุณภาพ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จำนวน ๗ คน ข้อมูลที่ใช้ประกอบในการศึกษา มีทั้งเอกสาร ตำรา และหนังสือ ทั้งระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิ และเครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์
ผลการศึกษาพบว่า พิธีศพในพุทธศาสนาอาจแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ในสมัยพุทธกาลและในสังคมไทย พิธีศพในสมัยพุทธกาลมีทั้งการเผาและการทิ้งศพ โดยเฉพาะการจัดพิธีพระบรมศพของพระพุทธเจ้านั้นได้จัดตามรูปแบบของพระเจ้าจักรพรรดิ ส่วนพิธีศพในสังคมไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับอินเดียสมัยพุทธกาล แม้ว่าในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีความแตกต่างบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย
สำหรับพิธีปอยล้อล้านนา คือ พิธีงานศพของพระสงฆ์ผู้เป็นพระมหาเถระ หรืองานปลงพระศพของเจ้านายชั้นสูงในล้านนา ในอดีตมีการสร้างปราสาทศพต่างบนหลังสัตว์ป่าหิมพานต์ แต่ปัจจุบันนิยมสร้างปราสาทต่างบนหลังนกหัสดีลิงค์ และจะมีการชักลากปราสาทศพไปสู่ที่เผาหรืออาจจัดตั้งเมรุชั่วคราวขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง โดยในพิธีปอยล้อจะมีปราสาทศพและเครื่องประกอบพิธีที่ละเอียดอ่อนมากกว่าศพของชาวบ้านทั่วไป และถือเป็นงานประเพณีที่มีการทำบุญอย่างยิ่งใหญ่
ในด้านคุณค่าของพิธีปอยล้อในล้านนา กรณีศึกษาพระครูการุณยธรรมนิวาส พบว่า พิธีปอยล้อได้ก่อให้เกิดคุณค่าด้านความสามัคคีของชุมชน การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และพิธีปอยในกรณีของพระครูการุณยธรรมนิวาส ถือว่าเป็นการจัดพิธีครั้งแรกสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ซึ่งนอกจากจะเป็นการประกาศคุณงามความดีของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ได้รู้เข้าใจและภาคภูมิใจในพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา และร่วมกันอนุรักษ์สืบสานพิธีกรรมดังกล่าว ให้คงอยู่คู่กับชาวล้านนาสืบไป
Download |