การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์ปุพพเปตพลีที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานล้านนา กรณีศึกษาคัมภีร์เปตตพลีฉบับวัดหลวงราชสัณฐาน” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักปุพพเปตพลีที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ๒) เพื่อศึกษาความเป็นมาของการทำบุญปุพพเปตพลีที่ปรากฏในคัมภีร์เปตตพลีฉบับวัดหลวงราชสัณฐาน ๓) เพื่อวิเคราะห์หลักการทำบุญปุพพเปตพลีที่ปรากฏในคัมภีร์เปตตพลีฉบับวัดหลวงราชสัณฐานที่มีอิทธิพลต่อชาวล้านนา การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบการเขียนพรรณนา พร้อมเสนอแนวคิดของผู้วิจัยโดยมุ่งตอบวัตถุประสงค์ และปัญหาที่การทราบ
หลักปุพพเปตพลีที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จากการศึกษาพบว่า เป็นหลักการทำบุญที่พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ได้กระทำไว้ในครั้งพุทธกาล เพื่ออุทิศส่วนบุญไปให้เหล่าญาติของพระองค์ที่ไปเกิดเป็นเปรต เมื่อพิจารณาตามหลักการทางพระพุทธศาสนาแล้วสามารถสงเคราะห์การทำบุญนี้เข้าในหัวข้อธรรมที่ชื่อว่า หลักพลี ๕ ประการ ของโภคาอาทิยะ ๕ ที่ปรากฏในอาทิยสูตรและปัตตกัมมสูตร แห่งอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต และจตุกกนิบาต ตามลำดับซึ่งปุพพเปตพลี คือ การทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ เป็นหนึ่งในพลีทั้ง ๕ นอกจากหลักการทำบุญปุพพเปตพลีจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญที่ตนได้บำเพ็ญแล้วแผ่ไปให้เหล่าญาติผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงซึ่งความกตัญญูกตเวทิตา ต่อญาติผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย
ผลจากการศึกษา ความเป็นมาของการทำบุญปุพพเปตพลีที่ปรากฏในคัมภีร์เปตตพลีฉบับวัดหลวงราชสัณฐาน พบว่า โครงเรื่องตามที่ปรากฏในเนื้อหาของคัมภีร์เปตตพลี มาจากเหตุการณ์ที่พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงกระทำไว้เป็นแบบอย่างในสมัยพุทธกาล นอกจากนั้นยังพบหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปประพฤติปฏิบัติ เช่น ศีล, ความเชื่อเรื่องบุญบาป, ทาน, ความกตัญญู, อริยธนทั้ง ๗, ศรัทธา, ภาวนา, และความไม่ประมาท ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับความสงบสุข ตลอดถึงส่งผลให้สังคมโดยรวมเกิดสันติสุข
จากการวิเคราะห์หลักการทำบุญปุพพเปตพลีของชาวล้านนาที่ปรากฏในคัมภีร์เปตตพลีฉบับวัดหลวงราชสัณฐาน ยังพบว่า ได้ส่งผลต่อสังคมในล้านนาหลายด้าน คือ (๑)ในด้านสังคมคัมภีร์ดังกล่าวทำหน้าที่ เป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคมโดยการยกเรื่องอบายภูมิมานำเสนอให้คนในสังคมได้รับรู้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้สังคมมีความเจริญมั่นคง สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสถาบันครอบครัวและสังคมให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน ก่อให้เกิดสันติสุขแก่สังคมโดยรวม ช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมได้ (๒)ในส่วนของประเพณีนั้น ส่งผลให้ชาวล้านนาถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องแต่ครั้งโบราณ นอกจากจะเป็นการทำบุญอุทิศให้เหล่าญาติแล้ว ยังได้ถวายศาสนูปถัมภ์แด่พระภิกษุ-สามเณรผู้เป็นศาสนทายาท ถือเป็นการอุปถัมภ์บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวพุทธศาสนิกชนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยก็มีการทำบุญในลักษณะเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในภาคกลางมีประเพณีสราทเดือนสิบ ภาคใต้มีประเพณีชิงเปรต และภาคอีสานมีบุญข้าวประดับดิน ที่ต่างก็ถือคติและช่วงเวลาเดียวกันในการทำบุญแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้ญาติของตน
Download |