หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระธวัชชัย ญาณธโร (ศิริสุขชัยวุฒิ)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบประเพณีเกี่ยวกับการเกิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทกับสังคมไทย (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระธวัชชัย ญาณธโร (ศิริสุขชัยวุฒิ) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี,ผศ.ดร.
  ดร.อธิเทพ ผาทา
  ดร.แสวง นิลนามะ
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นวิทยานิพนธ์เชิงคุณภาพ (Document Reserch) ผู้วิจัยมุ่งศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องประเพณีที่เกี่ยวกับการเกิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทกับสังคมไทยโดยผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ (๑) ศึกษาประเพณีเกี่ยวกับการเกิดในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) ศึกษาประเพณีเกี่ยวกับการเกิดในสังคมไทย (๓) ศึกษาเปรียบเทียบประเพณีเกี่ยวกับการเกิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทกับสังคมไทย   

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อแรกพบว่า  พระพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงการเกิดว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการได้ชีวิต โดยมีหลักธรรมที่สนับสนุนการเกิดคือ หลักอิทัปปัจจยตา  หลักปฏิจสมุปปบาท  กรรมและสังสารวัฏ  ประเพณีที่เกี่ยวกับการเกิดในพุทธกาลมี ๒ ระดับ คือ ราชสำนัก และ ประชาชนทั่วไป โดยมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาอื่น ๆ พระพุทธศาสนาเห็นว่า  การมีประเพณีเกี่ยวกับการเกิด  เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทำให้มนุษย์รู้จักคุณค่าของการเกิด และทำให้มนุษย์ได้มีโอกาส  มีปฏิสัมพันธ์กันในประเพณีเกี่ยวกับการเกิดในแต่ละครั้ง

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่สองพบว่า การเกิดในทางสังคมไทย ได้แก่ ๑. การคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้วมีชีวิตอยู่  ๒. ในทางกฎหมาย หมายถึง การคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้วมีสภาพของความเป็นบุคคลตามกฎหมาย  โดยการอธิบายตามหลักทางวิทยาศาสตร์  การเกิดเริ่มจากเชื้ออสุจิของผู้ชาย  ผสมกับไข่ของผู้หญิงขณะมีเพศสัมพันธ์  ทำให้เกิดการพัฒนาการของชีวิตขึ้น  ซึ่งการเกิดในสังคมไทยมีประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการ สรุปแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ เช่นเดียวกัน  ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดในสังคมไทยให้คุณค่าอยู่หลายประการคือ คุณค่าในการเกิดเป็นมนุษย์  คุณค่าในการทำความดี และ คุณค่าในการตอบแทนบิดามารดา เป็นต้น    

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่สามพบว่า เมื่อเปรียบเทียบประเด็นเกี่ยวกับการเกิด  ในพระพุทธศาสนากับสังคมไทยพบว่า  มีมุมมองเกี่ยวกับการเกิดคล้ายคลึงกัน คือ เห็นว่าการเกิดเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย  การเกิดเป็นเรื่องของธรรมชาติ  แต่มีความแตกต่างกันในประเด็นเกี่ยวกับจิตวิญญาณ  เนื่องจากพระพุทธศาสนาเห็นว่า  การเกิดจะสมบูรณ์เมื่อมีวิญญาณมาปฏิสนธิ  ส่วนการเกิดในสังคมไทยตามทัศนะของวิทยาศาสตร์ ไม่ระบุถึงวิญญาณหรือสัตว์ที่จะมาเกิด  ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดทางพระพุทธศาสนาและสังคมไทย  มีความแตกต่างกันทั้งในส่วนของพิธีการและความเชื่อ ส่วนที่คล้ายกันคือ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่มารดาผู้ให้กำเนิดและบุตรที่เกิด

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕