หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระกำพล อายุโท (เอี่ยมอัมพร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ เรื่องอุเบกขาบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาทศึกษาเฉพาะกรณีการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพรหมนารทะ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระกำพล อายุโท (เอี่ยมอัมพร) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู ดร.
  ดร.อธิเทพ ผาทา
  ดร.แสวง นิลนามะ
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิเคราะห์ เรื่องอุเบกขาบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท (ศึกษาเฉพาะกรณีการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพรหมนารท): นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ  คือ  (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องอุเบกขาบารมีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของ
พรหมนารทะ  (๓)
เพื่อศึกษาการนำวิธีการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพรหมนารทะมาใช้ในการพัฒนาชีวิตในสังคมไทยปัจจุบัน

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อแรกพบว่า      คำว่าอุเบกขาบารมี หมายถึง การวางใจต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบด้วยความอดทน อดกลั้นและมั่นคงหนักแน่นต่อหลักการแห่งความดี ส่วนคำว่าการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี หมายถึงการดำเนินชีวิตด้วยการรู้จักการวางเฉยหรือวางใจต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบทั้งดีและร้าย ซึ่งมีระดับการบำเพ็ญอยู่ ๓ ระดับ คือ (๑)ระดับอุเบกขาบารมี (๒)ระดับอุเบกขาอุปบารมี และ(๓)ระดับอุเบกขาปรมัตถบารมี นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบในการบำเพ็ญบารมีพบว่าอุเบกขาบารมีนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ ความอดทน ความหนักแน่นและความเมตตา  นอกจากนั้นอุเบกขายังสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือ (๑)อุเบกขาทางจิต หมายความว่าอุเบกขานั้นเป็นธรรมะที่นำมาใช้ในการบำเพ็ญเพียรทางจิต (๒)อุเบกขาเชิงจริยธรรม หมายความว่าหลักอุเบกขาที่นำมาใช้ในการเป็นมาตรวัดคุณความดีของการกระทำมนุษย์โดยเฉพาะในด้านการปกครอง อนึ่ง อุเบกขานั้นสามารถแบ่งได้เป็นอีก ๒ ประเภทคือ (๑)การวางเฉยที่ถูกธรรม เป็นการวางเฉยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ที่เข้ามากระทบ แต่ไม่ได้หยุดการกระทำ และ(๒)การวางเฉยที่ผิดธรรมเรียกว่า อัญญานุเบกขา เป็นการวางเฉยแบบไม่ต้องทำอะไรคือหยุดนิ่งทุกอย่าง

 

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่สองพบว่า  ในการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีในสมัยคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอยู่หลายเรื่องแต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คือเรื่อง
พรหมนารทะ  ซึ่งเป็นเรื่องราวการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีที่ชัดเจนที่สุด เป็นราวเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในชาดก ที่พระองค์ได้
ช่วยเปลี่ยนความคิดแบบมิจฉาทิฏฐิของพระเจ้า
อังคติราชให้มีความเห็นชอบตามเดิม ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวได้ให้ประโยชน์และคุณค่าหลายประการ

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่สามพบว่า  จากการศึกษาพบว่าสังคมไทยมีความเข้าใจผิดในความหมายของคำว่าอุเบกขาที่ผิดไปจากความหมายที่แท้จริง จึงมีส่วนทำให้มีการประพฤติผิดหรือวางท่าทีต่อความเชื่อดังกล่าวผิดไปจากความหมายเดิม แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะพบว่าแนวทางของการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพรหมนารทะนั้นสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมไทยได้ทั้งในด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจและการเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งตนเองและผู้อื่น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕