หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์วัชรินทร์ ถาวโร (ผาสุข)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ศึกษาการบำเพ็ญเพียรของพระโสณโกฬิวิสเถระในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์วัชรินทร์ ถาวโร (ผาสุข) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี, ดร.
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร
  อาจารย์รุ่งอรุณ อบเชย
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเพียรที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาความเพียรของพระโสณโกฬิวิสเถระ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักความเพียรมาใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยสำรวจข้อมูลชั้นปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก อรรถกถา  ข้อมูลชั้นทุติยภูมิจากตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้แสดงหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเพียร และเป็นองค์ธรรมที่สนับสนุนความเพียรทั้งสิ้น ประกอบด้วย ความมีศรัทธา การมีโรคน้อย  ความไม่โอ้อวด  การปรารภความเพียร การมีปัญญา ปธาน ๒ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ สัมมัปปธาน ๔ สมบัติ ๔ อิทธิบาท ๔ และ    พละ ๕ ความเพียรจะต้องมีองค์ธรรมอื่นมาปฏิบัติร่วมกัน เกื้อกูล อุปการะซึ่งกันและกัน จึงจะสามารถนำไปสู่ปฏิบัติบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้

 ความเพียรของพระโสณโกฬิวิสเถระ ที่ได้สั่งสมมาจากอดีตชาติด้วยความปรารถนาตำแหน่งผู้เป็นเลิศด้านปรารภความเพียร  ได้บำเพ็ญสมณธรรม เดินจงกรมด้วยเท้า ด้วยเข่า และมือ จนเท้า เข่า และมือแตก       แต่ก็ไม่บรรลุผลอะไร เพราะความเพียรที่มากเกินไป ภายหลังได้ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอ ครั้นแล้วได้หลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดของพรหมจรรย์ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้เลิศในด้านการปรารภความเพียร

                        ความเพียรได้คุณประโยชน์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูงระดับปรมัตถ์ ซึ่งสามารถน้อมนำมา การประยุกต์หลักความเพียรมาใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน ดังนี้

                        ๑.  ประยุกต์ความเพียรเชิงปัจเจกบุคคล  เป็นการนำหลักความเพียรมาประยุกต์ในส่วนของบุคคลที่      เป็น พระโพธิสัตว์  พระพุทธเจ้าและปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวก และของบุคคลทั่วไป                                                                            ๒. ประยุกต์ความเพียรเชิงสถาบันทางสังคม  เป็นการประยุกต์ความเพียรในระดับของสังคมโดยทั่วไปเพื่อเป็นการในไปใช้ใน              สถาบันทางครอบครัว  สถาบันทางการศึกษา  สถาบันทางเศรษฐกิจ และสถาบันการเมืองการปกครอง    ๓. การประยุกต์ใช้หลักความเพียรเพื่อคุณภาพชีวิตในสังคมไทย  ถือว่าเป็นการประยุกต์ที่มีความสำคัญที่ใช้เพื่อตนเองและสังคม  และเพื่อประโยชน์ในระดับสูงสุด

                        การประยุกต์ใช้หลักความเพียรก็เพื่อเป็นการพัฒนาชีวิตของตนเองให้บรรลุเป้าหมาย สำหรับบุคคลทั่วไปทำให้มีคุณธรรมในขั้นสูงเพราะเป็นการฝึกฝนอบรมตนเองอยู่ตลอดเวลาด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้ชีวิตของบุคคลนั้น เป็นชีวิตที่สงบร่มเย็น

โดยสรุป  การศึกษาจนเข้าใจรู้แจ้งในเรื่องหลักความเพียรเป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีผลเป็นความสุขสงบแก่ผู้ศึกษาปฏิบัติตาม มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตให้ร่มเย็นและทำให้มนุษย์หายงมงายต่อความขึ้นลงของชีวิต จะช่วยคลี่คลายความคับข้องใจในความสับสนของชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง เพื่อชีวิตของตนเองจะได้ดีขึ้น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕