การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) ประกอบด้วย การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ๒) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยพระสงฆ์ในเขตพื้นที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนใน ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลองจังหวัดแพร่ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๘๐ คน ได้มาโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกข้อมูลภาคสนาม และแบบสอบถามความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามใช้โปรแกรมสำเร็จรูปโดยใช้สถิติร้อยละสำหรับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม และใช้สถิติ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสำหรับระดับความคิดเห็น ข้อมูลจากการบันทึกภาคสนามใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการศึกษาเอกสาร พบว่า บทบาทของพระสงฆ์ มีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งพุทธธรรมอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุข ความสัมพันธ์ที่พระสงฆ์ กับชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน พระสงฆ์ยังมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อเที่ยวจาริกออกแสดงสัจธรรมคำสอนของพระศาสดาให้แก่ชาวโลกได้เรียนรู้ และรับรู้สู่การปฏิบัติ พระสงฆ์มีหน้าที่ในการศึกษา การเผยแผ่ และการสงเคราะห์ อีกทั้งได้มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในชุมชนมากขึ้น
ผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์ พบว่า พระสงฆ์ในตำบลทุ่งแล้ง ได้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนตามหลักธรรม ๘ ด้าน คือ ๑) ด้านการส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมประเพณี ๒) ด้านสุภาพอนามัย ๓) ด้านสัมมาอาชีพ ๔) ด้านสันติสุข ๕) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ๖) ด้านสาธารณะสงเคราะห์ ๗) ด้านกตัญญูกตเวทิตาธรรม ๘) ด้านสามัคคีธรรม
ผลการศึกษา พบว่า ระดับความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทของพระสงฆ์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านทั้ง ๓ ด้าน พบว่า ด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและ การดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของท่านด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านการเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการเป็นพระสงฆ์นักพัฒนา และใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการต่างๆ ของวัด ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ พระสงฆ์ปรับปรุง พัฒนาวัดโดยให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมเสมอ และด้านการสนับสนุน ส่งเสริม ประสานงานจากภาคส่วนต่างๆเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ พระสงฆ์สามารถเป็นผู้ประสานระหว่างประชาชนและหน่วยงานต่างๆให้เกิดความเข้าใจนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงได้ ปัญหาและอุปสรรคของพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามความคิดเห็นของพระสงฆ์เอง ได้แก่ การขาดความรู้และข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พฤติกรรมของพระสงฆ์ ที่มีความสมถะน้อยลง และประชาชน เข้าวัดน้อยลง ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ คือ ควรให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากกระแสโลกาภิวัติและอิทธิพลของสื่อยุคใหม่
Download |