เข้าชม : ๒๑๐๕๐ ครั้ง |
ศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาชีวิตไทยในกวีนิพนธ์กรุงรัตนโกสินทร์ (๒๕๔๕) |
|
ชื่อผู้วิจัย : |
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (วงศ์ชะอุ่ม) |
ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐ |
ปริญญา : |
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา) |
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ : |
|
พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ(ประสิทธิ์ พรหฺมรํสี) |
|
รศ.ดร.พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว |
|
นายสมชัย ศรีนอก |
วันสำเร็จการศึกษา : |
๒ / เมษายน / ๒๕๔๕ |
|
บทคัดย่อ |
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งแสดงภาพรวมแนวคิดเชิงปรัชญาที่คนไทยแสดงออกผ่านงานกวีนิพนธ์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๓ ในการศึกษาได้กำหนดลักษณะพื้นฐานแนวคิดของคนไทยไว้ ๔ ลักษณะ คือ (๑) ปรัชญาชีวิตไทยมีลักษณะเป็นวิญญาณนิยม (๒) ปรัชญาชีวิตไทยมีลักษณะเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ขวัญและลางสังหรณ์ (๓) ปรัชญาชีวิตไทยเกิดจากอิทธิพลทางศาสนา และ (๔) ปรัชญาชีวิตไทยเน้นหลักปกิบัติในชีวิตประจำวัน
ลักษณะพื้นฐานแนวคิดทั้ง ๔ ประการนี้เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการสร้างแนวคิดเชิงปรัชญาของไทย ปรากฏอยู่ในวรรณคดีทั่วๆ ไป ทั้งวรรณคดีมุขปาฐะและวรรณคดีลายลักษณ์ สำหรับกวีนิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีลายลักษณ์ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพันธกิจหลักในการตอบสนองความต้องการด้านสุนทรียะมีสถานะเป็นเครื่องมือบันทึกความรู้สำนึกคิดที่มนุษย์มีต่อชีวิต สังคม และสรรพสิ่ง เชื่อมโยงครอบคลุมมิติทางความคิดระบบต่างๆ ไว้ทุกด้าน พิจารณาความสืบเนื่องทางด้านแนวคิดกวีนิพนธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สืยต่อแนวคิดมาจากกวีนิพนธ์สมัยกรุงศรีอยุธยาหากก่อตัวขึ้นใหม่ในบริบทแห่งการฟื้นฟูสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาถึงเนื้อหาที่กวีนิพนธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสืบต่อมาจากกรุงศรีอยุทยา โดยพิจารณาจาก ๓ ประการ ดังนี้ (๑) รูปแบบกวีนิพนธ์ ได้แก่ รูปแบบทางการประพันธ์ที่กวีกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประพันธ์ขึ้น โดยยึดกรอบแห่งฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัดตามแบบอย่างกวีกรุงศรีอยุธยา (๒) เนื้อหากวีนิพนธ์ ได้แก่ เนื้องานกวีนิพนธ์ในยุคนี้มักดำเนินตามเนื้อเรื่องชาดกเป็นหลัก ตามขนบการประพันธ์ของกวีสมัยกรุงศรีอยุธยา และ (๓) แนวคิดกวีนิพนธ์ ได้แก่ การสอดแทรกแนวคิด ทัศนคติ อุดมคติของกวีในเนื้อหาหรือคำพูดของตัวละคร ตลอดจนการวิพากย์วิจารณ์สังคมและสรรพสิ่งตามที่กวีต้องการนำเสนอ
จากการวิจัยพบว่า บรรยากาศการแสวงหาแนวคิดเชิงปรัชญาของคนไทยเป็นกิจกรรมทางด้านความรู้สึกนึกคิดที่คนไทยใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินในการดำเนินชีวิต มิใช่กิจกรรมสำหรับเสาะแสวงหาเป้าหมายของชีวิตและสัจจะในสรรพสิ่ง ส่วนการแสวงหาเป้าหมายของชีวิตคนไทยอาศัยศาสนาเป็นหลัก การแสวงหาแนวคิดเชิงปรัชญาเป็นกิจกรรมซึ่งคนไทยกระทำควบคู่ไปกับกิจกรรมอื่นๆ ทางสังคมสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องวิญญาณเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อแนวคิดแบบจิตนิยม หากพิจารณาในแง่พัฒนาการ แนวคิดแบบจิตนิยมในสังคมไทยถึงขีดสูงสุดด้วยการแยกขวัญออกเป็นส่วนหนึ่งจากจิต แล้วอธิบายว่าขวัญเป็นสารัตถะของจิต ส่วนแนวคิดเชิงจักรวาลวิทยา คติความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง เคราะห์กรรมเป็นพลังเร้นลับที่มีส่วนสัมพันธ์กับระเบียบบนท้องฟ้าและควบคุมความเป็นไปของจักรวาล ทำให้วิถีการโคจรของเทหะบนท้องฟ้ามีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง สำหรับการประพฤติปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องด้วยหลักศาสนามีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดด้านญาณวิทยาและจริยศาสตร์ เนื้อหาด้านญาณวิทยา ความรู้ที่นับว่าประเสริฐสำหรับปุถุชนคือความรู้เพื่อการดำรงชีพ ความรู้นอกนั้นถือว่าไร้แก่นสาร เนื้อหาด้านจริยศาสตร์มุ่งตัดสินคุณค่าของคนว่าดีหรือไม่ด้วยคำนินทาส่วนเนื้อห่ทางด้านสุนทรียศาสตร์นั้นเน้นการสร้างความงาม มากกว่าการรู้จักหรือการทำความเข้าใจความงาม
แนวคิดเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ทางสังคมไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนา การประกอบอาชีพ บทเพลง การละเล่น การเมืองการปกครองวัฒนธรรมประเพณี ตลอดถึงกิจกรรมการสร้างงานวรรณคดีทั้งในรูปแบบวรรณคดีมุขปาฐะและวรรณคดีลายลักษณ์ กวีนิพนธ์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีจึงจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง เพื่อสกัดเอาเนื้อแท้ของแนวคิดออกมา อันจะเป็นประโยชน์ต่อบรรยากาศการศึกษาแนวคิดเชิงปรัชญาของไทยต่อไป |
|
Download :
254511.pdf |
|