หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระจะจู ญาณวิชโย (รักษาป่า)
 
เข้าชม : ๒๑๐๘๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นกัลยาณมิตรของพระสารีบุตรเถระ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระจะจู ญาณวิชโย (รักษาป่า) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระ ครูประวิตรวรานุยุต, ดร.
  ดร. ไพฑูรย์ รื่นสัตย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความเป็นกัลยาณมิตรของพระสารีบุตรเถระ” มีวัตถุ ประสงค์เพื่อศึกษาความหมาย ลักษณะ ประเภท ความสำคัญ และประโยชน์จาการมีกัลยามิตรและความเป็นกัลยาณมิตรของพระสารีบุตรเถระ ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์พบว่า

แนวคิดและหลักการของกัลยาณมิตร คือ เป็นผู้ชักนำ เป็นผู้ดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวบุคคลออกมาแสดง ชี้ให้เห็นถึงคุณและโทษ บอกทางที่ถูก ยกระดับความคิดและความเข้าใจต่อชีวิตที่ต่ำขึ้นสู่ที่ๆ ควรจะเป็นแล้วพัฒนาส่งเสริมให้ดีกว่าเดิม กัลยาณมิตร นอกจากหมายถึงบุคคลผู้มีน้ำใจดีงาม เอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์ตนและผู้อื่นแล้ว ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมทุกอย่างที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พัฒนา ยกระดับความคิดความอ่านความเข้าใจที่ถูกต้อง  ส่วนลักษณะของกัลยาณมิตรให้พิจารณาจากคำแนะนำสั่งสอนว่า เป็นไปเพื่อเกื้อกูลประโยชน์ตนและผู้อื่น มีความเสมอต้นเสมอปลาย สอนเช่นไรประพฤติตนเช่นนั้น กัลยาณมิตรมี ๒ ประเภท  คือ กัลยาณมิตรทางโลก และกัลยาณมิตรทางธรรม อนึ่ง กัลยาณมิตรมีความสำคัญต่อผลสำเร็จทั้งในระดับเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด วิธีสังเกตว่าผู้ที่คบหา หรือสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่เป็นกัลยาณมิตรหรือไม่ให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ หากคบบุคคลใดหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมใดแล้วอกุศลธรรมของตนเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป บุคคลหรือสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ไม่ควรคบไม่ควรอยู่ใกล้

ในประเด็นความเป็นกัลยาณมิตรของพระสารีบุตรเถระสามารถแยกได้ ๒ ประเด็น คือ ความเป็นกัลยาณมิตรต่อตนเอง  และความเป็นกัลยาณมิตรต่อผู้อื่นหรือสังคม ความเป็นกัลยาณมิตรต่อตนเอง ได้แก่ การยินดีสละอกุศลธรรมทั้งหลาย และสั่งสมกุศลธรรม เป็นต้นว่า ความเคารพ ความกตัญญู ความอ่อนน้อม พรหมวิหาร ๔ สังคหวัตถุ ๔ สัปปุริสธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ เป็นต้น กระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์  และความเป็นกัลยาณมิตรต่อผู้อื่นหรือสังคม มี ๒ ลักษณะ คือ เป็นกัลยาณมิตรให้กับบุคคลตามฐานะต่างๆ โดยตรง เช่น เป็นกัลยาณมิตรให้กับนางพราหมณีผู้เป็นมารดา ตลอดถึงบุคคลนอกพระศาสนา ผู้มีความสนใจ ท่านพร้อมที่จะเป็นคู่สนทนา โต้ตอบปัญหา แนะแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง นำไปสู่ความเจริญ และความเป็นกัลยาณมิตรในฐานะผู้เป็นต้นแบบ กล่าวคือ อธิบายหลักธรรมดังเช่น อธิบายหลักธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์จูฬนิเทศ มหานิเทศ และปฏิสัมภิทามรรค ความเป็นกัลยาณมิตรในส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่ง

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕