การวิจัยเรื่อง “การศึกษาความเข้าใจและวิธีการปฏิบัติตามหลักมรณานุสสติของผู้ปฏิบัติธรรม สำนักปฏิบัติธรรมวัดเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ” ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์สองประการดังต่อไปนี้ ๑) ศึกษาความเข้าใจและวิธีการปฏิบัติตามหลักมรณานุสสติของผู้ปฏิบัติธรรม สำนักปฏิบัติธรรมวัดเมืองคง ๒) ศึกษาผลของการปฏิบัติธรรมตามหลัก มรณานุสสติของผู้ปฏิบัติธรรม สำนักปฏิบัติธรรมวัดเมืองคง โดยผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพคือเน้นการวิจัยเชิงเอกสาร และวิจัยภาคสนามโดยการสัมภาษณ์ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้พบว่า
ผู้ปฏิบัติธรรมมีความรู้ความเข้าใจวิธีการปฏิบัติตามหลักมรณานุสสติของสำนักปฏิบัติธรรมวัดเมืองคงเป็นอย่างดี คือความตายเป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสัตว์ เพราะเป็นสัจธรรมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการแตกดับของเบญจขันธ์ คือกายกับใจแยกออกจากกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยกายกับจิต กายกับจิตนี้เปลี่ยนแปลงเสมอ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ดังนั้น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่ควรมีสติ ความไม่ประมาท มุ่งสร้างความดีให้แก่ตน และสังคม ความตายเกิดโดยสาเหตุสี่ประการคือน ๑) ตายเพราะสิ้นอายุหรือหมดอายุ ๒) ตายเพราะโรคภัยหรือสุขภาพ ๓ ) ตายเพราะอุบัติเหตุ และ ๔ ) ตายเพราะฆ่าตัวตายเพราะกลุ้มใจเกี่ยวกับปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว หรือเรื่องส่วนตัว โดยย่อแล้วคือตายเพราะถึงเวลาที่ต้องตาย และตายเพราะเหตุในปัจจุบัน ส่วนวิธีปฏิบัติผู้ปฏิบัติธรรมได้ปฏิบัติตามหลักมรณานุสสติ คือ กำหนดลมหายใจเข้าและหายใจออกโดยกำหนดพิจารณาระลึกถึงความตายทั้งโดยการเดินจงกรม และนั่งสมาธิ แม้กระทั่งในพิธีรดน้ำศพ ร่วมในงานศพ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมเอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความประมาทในอายุและชีวิต สำนักปฏิบัติธรรมวัดเมืองคงเน้นฝึกการปฏิบัติมรณานุสสติโดยการนั่งสมาธิ พิจารณาระลึกถึงความตาย และเผยแผ่หลักมรณานุสสติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตามวิทยุท้องถิ่น จัดกิจกรรม ประชาสัมพันธ์โดยใช้เอกสาร แผ่นพับ แผ่นภาพ แผ่นป้าย เพื่อให้ผู้เข้าปฏิบัติธรรม และผู้สนใจได้มีความเข้าใจหลักมรณานุสสติมากขึ้น
ผลของการปฏิบัติธรรมตามหลักมรณานุสสติของสำนักปฏิบัติธรรมวัดเมืองคงด้านประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ คือทำให้เข้าใจแนวทางปฏิบัติต่อความตาย เป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง อ่อนโยน อ่อมน้อมถ่อมตน มีความสำรวมระวัง ลดละความชั่วทำความดี ยึดมั่นในหลักธรรม ลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง รู้เท่าทันกิเลส ตัณหา เป็นผู้มีความสุขและไม่เป็นทุกข์ แต่การปฏิบัติธรรมได้ผลเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับ ๑) ความรู้ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติ ๒ ) ความต่อเนื่องในการปฏิบัติ และ ๓ ) ความเอาใจใส่ของวิทยากรที่คอยชี้แนะแนวทางในระหว่างปฏิบัติธรรม ส่วนประโยชน์ต่อสังคมนั้น เมื่อคนเข้าใจถึงความตายแล้ว ความตายจะสอนให้เป็นคนไม่ประมาท มีสติ มีความสำรวมระวัง มุ่งทำกุศล ละเว้นอกุศลทั้งปวง ทั้งนี้ล้วนแต่เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้สังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
Download |