ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้วิจัยมุ่งที่จะศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการต่ออายุในทางพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดสุรินทร์โดยผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๓ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการต่ออายุในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดสุรินทร์ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการต่ออายุในทางพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุใน จังหวัดสุรินทร์
ผลการวิจัยพบว่า
พระพุทธศาสนามีแนวคิดว่ามนุษย์นั้นมีกรรมเป็นของตน และการเกิดหรือการตายของมนุษย์ย่อมมีสาเหตุอยู่ ๔ ประการ คือ (๑) อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ (๒) กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรม (๓) อุภยักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ และสิ้นกรรมทั้งสอง (๔) อุปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะอุบัติเหตุ แต่ถึงอย่างนั้นในบางกรณีมนุษย์ก็สามารถที่จะต่อชีวิตหรือต่ออายุไปได้ด้วยการกระทำที่เรียกว่าการต่ออายุด้วยเหตุดังต่อไปนี้คือ (๑) การต่ออายุด้วยการให้ทาน (๒) การต่ออายุด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ (๓) การต่ออายุเพราะการรู้จักหลักในการดำเนินชีวิต (๔) การต่ออายุด้วยอำนาจกรรม (๕) การต่ออายุด้วยการสาธยายมนต์(พระปริตร)(๖) การต่ออายุด้วยการปฏิบัติธรรมตามหลักอิทธิบาท ๔ (๗) การต่ออายุด้วยความไม่ประมาท (๘) การต่ออายุด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐาน (๙) การต่ออายุด้วยการแผ่เมตตา (๑๐) การต่ออายุด้วยการรู้จักประมาณในการบริโภค
นอกจากนั้นพระพุทธศาสนายังได้เสนอแนวทางในการต่ออายุด้วยการสะเดาะเคราะห์ตามหลักของพระพุทธศาสนาก็ด้วยการให้ชีวิตแก่ผู้อื่น หรือการรักษาศีล และการเจริญภาวนา ซึ่งวิธีการดังกล่าวผิดกับการสะเดาะเคราะห์ตามแนวคิดของพราหมณ์ที่เห็นว่าเมื่อมีเคราะห์ต้องฆ่าสัตว์เพื่อสะเดาะเคราะห์ตนเอง เป็นต้น สำหรับการสะเดาะเคราะห์กับการต่ออายุในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่าเป็นการกระทำที่มีความสัมพันธ์เพราะหากมนุษย์ทำการสะเดาะเคราะห์ก็เท่ากับเป็นการต่ออายุ
สำหรับพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดสุรินทร์นั้น ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์มีการประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุอย่างแพร่หลายทั้งชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร กูย และลาวโดยแต่ละกลุ่มชาติพันธ์ก็มีพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุแตกต่างกัน และในการศึกษากรณีการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุของพระภิกษุในจังหวัดสุรินทร์ ๓ รูป ได้แก่ (๑)พระพิมลพัฒนาการ(พวน วรมงฺคโล)วัดมงคลรัตน์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ (๒)พระครูอาภัสรธรรมคุณ (บุญรอด)วัดโคกกรม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ (๓)พระครูพัฒนสารคุณ(สอ)วัดสัทธารมณ์บ้านขาม อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ พบว่าการประกอบพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุของพระเถระทั้งสามรูปนั้นแม้จะมีรูปแบบของการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกัน แต่ก็มีพื้นฐานความเชื่อที่มาจากพระพุทธศาสนาคือเรื่องการสวดพระปริตรเพื่อการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุเหมือนกัน
ผลการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดสุรินทร์พบว่า การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุมีพัฒนาการมาจากความเชื่อดั้งเดิมคือความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาก็พัฒนามาเป็นความเชื่อที่เกิดจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และในระยะต่อมาก็พัฒนามาจากความเชื่อของพระพุทธศาสนา กล่าวเฉพาะในปัจจุบันนั้นพบว่าชาวบ้านเห็นว่าพระเป็นผู้มีความรู้และมีศีลกว่าจะนิยมที่จะเข้าหาพระภิกษุเพื่อประกอบพิธีกรรมากกว่าการเข้าหาฆราวาส และในปัจจุบันชาวบ้านนิยมเข้าร่วมพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุกับพระภิกษุมากกว่า นอกจากนั้น ในการประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดสุรินทร์นั้นจะปรากฏหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น กรรม กตัญญูกตเวที ความไม่ประมาท ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการประกอบพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดสุรินทร์นั้นมีคุณค่าหลายประการได้แก่ คุณค่าต่อตนเอง คือผู้เข้าร่วมพิธีกรรมนั้นเมื่อผ่านพิธีกรรมนี้แล้วย่อมได้รับความสุขและความสบายใจ จากการได้ให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา และคุณค่าต่อสังคม คือ การทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชน เป็นต้น
Download |