การวิจัยครั้งนี้ได้ผลสรุปจากผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน และเจ้าอาวาสวัด โดยการสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานของผู้สูงอายุ ๑๓๐ คน อายุระหว่าง ๖๐ – ๗๗ ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จบการศึกษาระดับประถม และไม่ได้ทำงาน ผู้นำชุมชน ๑๓ คน เป็นเพศชายล้วน อายุระหว่าง ๔๑ – ๕๐ ปี จบการศึกษาระดับมัธยมและส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ส่วนเจ้าอาวาส ๙ รูป อายุระหว่าง ๔๑ – ๕๐ ปี มีวุฒิการศึกษาระดับนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรมสูงสุด 3 ประโยค และทางโลกสูงสุดปริญญาตรี โดยใช้สถิติค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดังนี้
ด้านบทบาทของผู้สูงอายุในการส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา คือ การอุปถัมภ์พระสงฆ์มากที่สุด เช่น การถวายภัตตาหารเป็นประจำ สิ่งของอุปโภค อัฐบริวาร ยารักษาโลก และสร้างเสนาสนะสถาน ด้านการชักชวนคนเข้าวัดอยู่ในระดับมากและมากที่สุด โดยการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เนื่องในวันสำคัญๆ เช่น วันมาฆบูชา วิสาขะบูชา เป็นต้น และประเพณีท้องถิ่นต่างๆ เช่น ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น รองลงมาได้แก่การจัดบรรยายธรรมะมีวัดเป็นศูนย์กลาง โดยร่วมกับพระสงฆ์ เช่น จัดอบรมธรรมะวันอาทิตย์ และการประชาสัมพันธ์ในวันสำคัญต่างๆ ด้านสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พบว่า อยู่ในระดับน้อย เช่น การจัดทำ CD ธรรมะ การเทศน์ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน การเขียนบทความทางหนังสือพิมพ์ และการแสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ราชการ สถานศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ และด้านการปกป้องพระพุทธศาสนา พบว่า อยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะการทำนุบำรุงศาสนาอย่างมีเหตุผล รองลงมา คือ การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง และการศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริง
Download |