วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธ ๒) การพัฒนาเยาวชนในสังคมไทย ๓) พัฒนาการการพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธในสังคมไทย
ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธ ศึกษาความหมายพฤติกรรมเยาวชนตามแนวพุทธตามการกระทำ สาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเยาวชน อันเป็นผลมาจากการบงการของตัณหา มีเป้าหมายของการพัฒนาเยาวชน มี ๓ ขั้นคือ ๑)เป้าหมายในปัจจุบัน ๒) เป้าหมายในอนาคต ๓) เป้าหมายขั้นสูงสุด จุดเริ่มต้นของการพัฒนาของเยาวชนตามแนวพุทธ คือ สัมมาทิฏฐิ การส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเยาวชนตามแนวพุทธโดยใช้หลักไตรสิกขา สถาบันทางสังคมเป็นปรโตโฆสะ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาแนวพุทธให้แก่เยาวชน
สำหรับการพัฒนาเยาวชนในสังคมไทย ศึกษาพฤติกรรมของเยาวชนที่สามารถวัดได้ เป้าหมายของการพัฒนาเยาวชนครอบคลุม ๔ ด้านคือ ๑) ไม่เบียดเบียนตนเอง ๒) ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ๓) รับผิดชอบต่อหน้าที่ ๔) พัฒนาตนเองและช่วยพัฒนาผู้อื่นและสังคม สาเหตุของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เกิดจากสาเหตุทางครอบครัว เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเยาวชน คือการมีทัศนคติที่ดีต่อคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เยาวชนกระทำพฤติกรรมนั้น การส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการพัฒนาเยาวชนได้แก่ การพัฒนาวินัยในตน การพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์ การพัฒนาความสามารถในการคิด บทบาทของสถาบันทางสังคมมีส่วนในการอบรมสั่งสอน ขัดเกลา และเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชน เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนา
พัฒนาการของการพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธในสังคมไทย พบพัฒนาการของการพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธในเรื่องความหมายของพฤติกรรมเยาวชนตามแนวพุทธในสังคมไทย สาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ตามแนวพุทธในสังคมไทย จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธในสังคมไทย เป้าหมายของการพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธในสังคมไทย การส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามแนวพุทธในสังคมไทย และบทบาทของสถาบันทางสังคมในการส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนตามแนวพุทธในสังคมไทย
Download |