การศึกษาปรากฏการณ์ในสังคมไทยกับความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความฝันในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ปรากฏในมหาสุบินชาดก และ ๓) เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ในสังคมไทยกับความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ผลของการศึกษามีดังต่อไปนี้
๑. ความฝันส่งผลกระทบต่อจิตใจของมนุษย์ จึงอยู่ในความสนใจ ใคร่รู้มาเป็นเวลานับพันปีแม้นักวิทยาการปัจจุบันจะมีเครื่องมือสมัยใหม่ทดลองเกี่ยวกับความฝันแต่ก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปเรื่องของความฝันได้อย่างสมบูรณ์ ทางตะวันตกกล่าวถึงความฝัน ว่าเป็นการแสดงออกของจิตใต้สำนึกของผู้ฝัน ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถกระทำหรือได้รับการตอบสนองได้จึงถูกเก็บกดเอาไว้ในส่วนของจิตใต้สำนึก และจะถูกแย้มพรายออกมาในยามหลับและยังเป็นการชดเชยจิตใจ ของการเติมเต็มบางส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตประจำวันของผู้ฝันให้เกิดความสมดุลทางจิตใจ ในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้น ความฝันเกิดจาก(๑) เพราะธาตุกำเริบ (๒) เพราะอารมณ์ที่เคยประสบ (๓) เพราะเทวดาสังหรณ์ (๔) เพราะบุพพนิมิต ความฝันจึงปรากฎแก่ปุถุชน ๔ ประเภท และอริยบุคคลเบื้องต่ำ ๓ ประเภท เพราะยังมีสัญญาวิปลาส ยังไม่สิ้นอาสวะกิเลสนั่นเอง.
๒. ความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีปรากฏในอรรถกถามหาสุบินชาดกว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลฝันเห็นโคจ่าฝูง เห็นต้นไม้ เห็นแม่โค เห็นโคตัวผู้ เห็นม้า เห็นถาดทอง เห็นสุนัขจิ้งจอก เห็นหม้อน้ำ เห็นสระโบกขรณี เห็นข้าวหุงไม่สุก เห็นไม้จันทร์ เห็นน้ำเต้าจมน้ำ เห็นหินลอยน้ำ เห็นกบกินงูเห่า เห็นหงษ์ทองแวดล้อมอีกา และฝันเห็นเสือเหลืองสะดุ้งกลัวแพะ ความฝันเหล่านี้ได้มีการตีความโดยพระอรรถกถาจารย์ว่าผลของพระสุบินของพระเจ้าปเสนทิโกศล ยังไม่เกิดในรัชสมัยของพระองค์และในสมัยพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า แต่จะเกิดในสมัยที่ผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ข้าราชการ สมณพราหมณ์ และคนทั้งหลายพากันทอดทิ้งธรรม ประพฤติทุจริตผิดศีลธรรม
๓. ความสอดคล้องของความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลกับปรากฏการณ์ในสังคมไทย มี๔ ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ด้านพุทธบริษัท และด้านจริยธรรมส่วนบุคคล ความสอดคล้องนี้จะช่วยให้คนในสังคมไม่ตกอยู่ในความประมาท เพื่อป้องกันและแก้ไขความเสื่อมมิให้เกิดขึ้นหรือใช้เวลานานที่จะเกิด
Download |