งานวิจัยเรื่องนี้มีประวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) ศึกษาอุโบสถศีลในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) ศึกษาการรักษาอุโบสถศีลของพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) วิเคราะห์การรักษาอุโบสถศีลของพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อประยุกต์ใช้กับสังคมไทยปัจจุบัน
ผลการวิจัยพบว่า อุโบสถศีล คือ วันที่เข้าอยู่จำ ด้วยการอดอาหาร ด้วยการสมาทานในข้อวัตรปฏิบัติ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า วันอุโบสถ คือวันพระขึ้น-แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำ (กรณีเดือนขาด) และศีลอุโบสถนั้น ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ศีล ๘ ที่สมาทานรักษากันในวันพระ เรียกว่า อุโบสถศีล ส่วนศีล ๘ ที่รักษากันในวันอื่นนอกจากวันพระนั้นเรียกว่า ศีล ๘
วิธีการรักษาอุโบสถศีลของพระโพธิสัตว์นั้น มีการสมาทานศีลวัตร คือรับศีลอุโบสถ ทุกวัน ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ รับประทานอาหารเพียงให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ เพื่อทำอินทรีย์ทั้งหลายให้หมดพยศ แล้วสมาทานศีลคือรับเอาศีลอุโบสถมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีความสำรวมระวัง ไม่ก้าวล่วงแม้ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส หรือสูญเสียอวัยวะ และชีวิตก็ตาม เป็นการรักษาอุโบสถศีลขั้นอุปบารมี และขั้นปรมัตถบารมี เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ การได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณในอนาคตนั้นเอง
อุบาสก อุบาสิกา ผู้รักษาอุโบสถศีลในสังคมไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการรักษาอุโบสถศีล บ้างก็มีอายุมาก บ้างก็ประสบปัญหาต่าง ๆ จึงไม่สามารถรักษาได้อย่างจริงจัง จึงต้องอาศัยคณะสงฆ์ในการสนับสนุน และส่งเสริมให้แต่ละวัดจัดกิจกรรมในการรักษาอุโบสถศีล เป็นแบบแผนในการรักษาศีลอุโบสถ และจรรโลงพระพุทธศาสนาให้สืบไปด้วย
Download |