งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาบทบาทศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยในการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์การวิจัย (๑) บทบาทเกี่ยวกับการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) บทบาทของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยในกายเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา (๓) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ ข้อจำกัดและแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก และเอกสารที่เกี่ยวข้อง และได้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษา พบว่า :-
๑) ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาปรากฏข้อมูลบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นพระศาสดาผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาและสอนธรรมะแก่ชาวพุทธต่างมุ่งมั่นพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาไว้อย่างมั่นคง พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีการเผยแผ่และปกป้องพระศาสนาของพระองค์ เมื่อมีผู้ทูลถามพระองค์ทรงมีวิธีการตอบแตกต่างเฉพาะกรณี ทรงใช้ปาฏิหาริย์ในบางกรณี แต่ทรงยกย่องอนุสาสนีปฏิหาริย์ การที่ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตรแก่พระปัญจวัคคีย์ เป็นการเริ่มงานเผยแผ่พระศาสนาของพระองค์ในท่ามกลางลัทธิความเชื่ออื่นๆ ที่หยั่งรากลึกในวิถีชีวิตและสังคมในขณะนั้น ตลอดพระชนมชีพพระองค์เสด็จด้วยพระบาทเปล่าไปยังท้องถิ่นดินแดนต่างๆ เพื่อแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ หลังพุทธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทก็ร่วมกันพิทักษ์รักษาพระพุทธพจน์ไว้อย่างหมดจด บทบาทในการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนาของพระสาวกผู้ใหญ่ที่ศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ พระอานนท์ พระมหาโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ผู้ทำงานเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างเข็มแข็งและจริงจัง
๒) ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีบทบาทในการส่งเสริม และปกป้องพระพุทธศาสนา ประสานงานกับองค์กรพุทธ เผยแผ่ธรรม สื่อสารกับประชาชน สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ บำเพ็ญสาธารณสงเคราะห์ สนับสนุนงานแก่ชาวพุทธทั้งหลาย
โดยเป็นตัวแทนของชาวพุทธ และสนับสนุนกิจการงานของศูนย์ฯ เอง
๓) จากการศึกษา ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ ข้อจำกัดและแนวทางแก้ไขของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย พบว่า
๓.๑) ปัจจัยด้านบุคลากรศูนย์ฯ (๑)ที่มีความมุ่งมั่นทำงานอุทิศเพื่อพระพุทธศาสนา (๒) ปัจจัยทางสังคม ด้วยศูนย์ฯ มุ่งทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา จึงมีศรัทธาของพุทธบริษัทผู้มีความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาเป็นทุนทางสังคมในการดำเนินงาน และ (๓) ปัจจัยด้านการใช้สื่อ ศูนย์ฯ มีสื่อที่เข้าถึงประชาชนหลายๆ ช่องทางทั้งรวดเร็วทั่วถึง ปัจจัยเหล่านี้เอื้ออำนวยให้งานของศูนย์ฯ ดำเนินไปสู่ความสำเร็จ
๓.๒) แต่มีข้อจำกัดของศูนย์พิทักษ์ฯ ได้แก่ (๑) ข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานะของบุคลากรเนื่องจากในบางกรณีความเป็นบรรพชิต ซึ่งมีวิถีชีวิตเฉพาะและมีวินัยกำกับให้เจริญในไตรสิกขา ทำให้ไม่คล่องตัวในการปฏิบัติงาน และโดยปกติชาวพุทธก็มักจะให้เกียรตินิมนต์พระเป็นผู้นำหรือเป็นแกนนำในการปฏิบัติการ (๒) ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเงิน ศูนย์ฯ มีงบประมาณในการดำเนินงานไม่แน่นอนและขึ้นต่อศรัทธาของประชาชน จึงไม่คล่องตัวในการปฏิบัติการ
๓.๓) แนวทางการแก้ปัญหาของ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการแก้ไขต่อข้อจำกัดนั้นดังนี้ (๑) ด้านบุคลากร ศูนย์ฯ ได้จัดโครงการอบรมอาสาสมัครพิทักษ์พระพุทธศาสนา เพื่อผลิตบุคลากรทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้พอต่อการใช้งาน(๒) เกี่ยวกับข้อจำกัดด้านการเงินศูนย์ฯ ได้จัดโครงการระดมทุน โดยจัดทอดผ้าป่าสามัคคีและเปิดช่องทางรับบริจาคให้ผู้ศรัทธาร่วมตั้งเป็นกองทุน
Download |