งานวิจัยเรื่อง “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายเชิงพุทธบูรณาการ” นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อคือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันและตามหลักพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายในสังคมไทย (๓) เพื่อสร้างรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายเชิงพุทธบูรณาการ โดยวิธีการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสัมภาษณ์นักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ ผลการวิจัยพบว่า
ทางการแพทย์แผนปัจจุบันถือว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตาย ควรได้รับการดูแลด้วยวิธีการที่หลากหลายเช่น แบบพหุวิชาชีพเพื่อให้การดูแลอย่างทั่วถึงในทุกมิติ ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม การดูแลประคับประคองมิติด้านจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยมี“การตายดี” หรือ “การตายอย่างมีความสุข” ในขณะที่พระพุทธศาสนาเถรวาทถือว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลจึงควรมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน ช่วยประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยให้สะอาด สว่าง สงบ ให้การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ให้ผู้ป่วยมีสติไม่หลงลืม มีความสำราญแช่มชื่น ไม่ขุ่นมัว เพื่อไปสู่สุคติหลังจากตาย ส่วนหลักที่ถือปฏิบัติในสังคมไทยถือว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายควรได้รับดูแลด้วยการแพทย์เชิงพหุลักษณ์ครอบคลุมทุกมิติ เช่น ยาสมุนไพร ดูแลแนวมนุษยนิยม ดูแลรักษาแบบองค์รวมครอบคลุมมิติทางกาย มิติทางจิต มิติทางปัญญา มิติทางสังคม วิธีการแบบองค์รวม เช่น การดูแลด้านร่างกายโดยการสร้างบรรยากาศ การดูแลด้านจิตใจ เช่น การสวดมนต์ไหว้พระ ให้ครอบครัวของผู้ป่วยและเครือข่ายสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งในทีมดูแลผู้ป่วย โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่ “การตายดี” หรือ “การตายอย่างสงบ” เป็นหลักประกันว่า หลังจากตายแล้วจะไปสู่สุคติ
หลักการและวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายเชิงพุทธบูรณาการคือ ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต้องมีพรหมวิหารธรรมคือเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน โดยส่วนตนผู้ดูแลเองก็มีความเข้าใจโลกและชีวิต รู้เท่าทันชีวิตและความตาย ทำการดูแลอนุวัตตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำงานดูแลแบบพหุวิชาชีพเพื่อให้การดูแลทั่วถึงทุกมิติ โดยบริหารองค์ประกอบในการดูแลให้อยู่ในสภาพเอื้ออำนวย กล่าวคือ การเอื้ออำนวยให้ผู้ป่วยมีทัศนะท่าทีที่ดีซึ่งทำให้สะดวกในการดูแลรักษา มีศรัทธาในพระรัตนตรัย (และหรือในหลักศาสนาที่ตนนับถือ) รู้เท่าทันธรรมชาติของโลกและชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ ผู้ดูแล ผู้ดูแลควรมีลักษณะที่พึงประสงค์ มีจิตอาสาพยาบาล มีหลักพรหมวิหาร มีสาราณียธรรม ๖ ญาติมิตร มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้ป่วยกับญาติมิตร วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลรักษา ควรมีทั้งวัสดุอุปกรณ์เชิงนามธรรม เช่น ฌานอภิญญา และวัสดุอุปกรณ์เชิงรูปธรรมเช่น ยาสมุนไพร การรักษาด้วยยาแพทย์แผนปัจจุบันเท่าที่จำเป็น ดูแลให้ครบทุกมิติซึ่งมี ๔ ด้าน คือ (๑)มิติทางกาย-ศีลสิกขา (๒) มิติทางสังคม-ศีลสิกขา (๓) มิติทางจิตใจ-สมาธิสิกขา (๔) มิติทางปัญญา-ปัญญาสิกขา ให้การดูแลด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่หลงตาย (อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ) ทำชีวิตให้มีคุณภาพ สุขภาพ และสมรรถภาพก่อนตาย มีจิตผ่องแผ้วในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต ไปสู่สุคติหลังตาย ท้ายที่สุดถ้าเป็นไปได้ก็ให้มีสุขอันเกิดจากนิพพานในกรณีที่อุปนิสัยองค์ประกอบพร้อมเช่นกรณีของพระปูติคัตตติสสเถระ นอกจากนี้ ผู้ดูแลควรได้รับประโยชน์คือมีจิตงอกงามพัฒนา และได้โอกาสทำบุญจากการที่มีจิตอาสาดูแลผู้ป่วย ซึ่งในทางปฏิบัติ ควรนำหลักการแพทย์แผนปัจจุบันและหลักการที่ถือปฏิบัติในสังคมไทยเข้ามาเสริม ให้ผู้ป่วยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ สิทธิที่จะรับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล สิทธิที่จะแสวงหาความต้องการด้านจิตวิญญาณ สิทธิของครอบครัวที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูใจ สิทธิที่จะตายอย่างสงบสมศักดิ์ศรี สิทธิที่คาดหวังว่าร่างกายของตนจะได้รับการปฏิบัติด้วยดี
Download |