วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์คือ (๑) เพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร (๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับพฤติกรรมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ที่มีสำนักงานอบต. เพศ ตำแหน่ง วาระดำรงตำแหน่ง อายุ ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน และเคยบวชเป็นภิกษุ สามเณร หรือบวชชีพราหมณ์ถือศีลอุโบสถในพระพุทธศาสนา แตกต่างกัน (๓) เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และแนวทางส่งเสริมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลในอำเภอตะพานหินจังหวัดพิจิตรทั้งหมด ๒๐๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลด้านสถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม แบบสอบถามเกี่ยวกับระดับพฤติกรรมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลในอำเภอตะพานหินจังหวัดพิจิตร และแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหา แนวทางการแก้ไขและแนวทางส่งเสริมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลในอำเภอตะพานหินจังหวัดพิจิตร วิเคราะห์ผลโดยใช้ค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตัวแปรด้วยค่า t-test ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สถานภาพทั่วไปของผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ อบต.งิ้วราย ร้อยละ ๑๓.๐๐ เป็นเพศชาย ร้อยละ ๘๓.๕๐ ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ ๘๕.๐๐ ได้รับเลือกดำรงตำแหน่งมา ๑ วาระ ร้อยละ ๔๖.๐๐ มีอายุระหว่าง ๔๑ – ๕๐ ปี ร้อยละ ๔๘.๐๐ มีระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ ๓๕.๐๐ มีสถานภาพแต่งงานแล้ว ร้อยละ ๘๙.๐๐ มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๕๐.๐๐ นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ ๙๙.๐๐ เคยบวชเป็นภิกษุ สามเณร หรือบวชชีพราหมณ์ถือศีลอุโบสถ ในพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๖๘.๐๐ เคยบวชใช้เวลานาน ๑ - ๓ เดือน ร้อยละ ๓๔.๕๐ แต่ไม่เคยศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๘๐.๐๐ ส่วนที่เคยได้ศึกษาโดยการอ่าน/ฟังเทปธรรมมะ ร้อยละ ๔.๐๐ และเคยศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่ใช้เวลานานมากกว่า ๑ ปี ร้อยละ ๒.๐๐
๒. ผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มีพฤติกรรมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยรวมอยู่ในระดับมาก
๓. ผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ที่มีเพศ ตำแหน่ง อายุ เคยบวชเป็นภิกษุ สามเณร หรือบวชชีพราหมณ์ถือศีลอุโบสถในพระพุทธศาสนา แตกต่างกัน มีระดับพฤติกรรมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ที่ปฏิบัติงานอยู่สำนักงานอบต. ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน แตกต่างกัน มีระดับพฤติกรรมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
๔. ปัญหา แนวทางการแก้ไข และแนวทางส่งเสริม การนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน จากผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ได้แก่ ส่งเสริมให้กินเจ หรือมังสวิรัติเพื่อสุขภาพมากขึ้น ครอบครัวต้องดูแลเอาใจใส่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตตั้งแต่ยังเด็กๆ ปลูกจิตสำนึกให้นึกถึงปัญหาที่จะตามมา และรณรงค์เรื่องการแต่งกายสุภาพแบบไทย รักนวลสงวนตัว เข้มงวดเรื่องวัฒนธรรมภาษา และต้องปลูกฝังให้เป็นคนซื่อสัตย์ รณรงค์ให้ความรู้เรื่องพิษภัยของการดื่มสุรายาเสพติด
Download |