งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักคำสอนและอุปมาอุปไมยเรื่อง”เต่า”ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและแนวทางการอนุรักษ์”เต่า” ในทัศนะพระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับ“เต่า”ในสังคมไทย
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า พุทธวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าที่ใช้หลักอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบเรื่องราวต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม ทรงแสดงธรรมอุปมาอุปาทานขันธ์ ๕ เหมือนเต่า ทรงเปรียบเทียบคนพาลที่ไปสู่วินิบาตครั้งเดียวแล้วจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีกนั้นเป็นการยากมาก อุปมาเหมือน”เต่า”ตาบอดในมหาสมุทร ทรงสอนให้ภิกษุคุ้มครองตนให้รอดพ้นกิเลสเหมือนเต่าหดศีรษะและเท้าอยู่ในกระดอง
ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับ”เต่า”ในสังคมไทย เกิดจากคนในแต่ละท้องถิ่นมีปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อประสบความวิบัติ เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดภัยธรรมชาติ ปัญหาเหล่านั้นเกินความสามารถของมนุษย์ธรรมดาจะแก้ไขได้ จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติบันดาลให้เป็นเช่นนั้น อำนาจเหล่านั้นอาจจะเป็นภูต ผี ปีศาจ วิญญาณ หรือเทพเจ้า ดังนั้น เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น จึงมีการวิงวอนขอความช่วยเหลือจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์เล่านั้นโดยเชื่อว่า ถ้าบอกกล่าวหรือทำให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นพึงพอใจก็จะช่วยให้ปลอดภัย
มีหลักคำสอนและวินัยบัญญัติที่เกื้อหนุนและสอดคล้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสรรพสัตว์ ในแง่การอนุรักษ์สัตว์ ต้องมีพื้นฐานอยู่ที่การมีจิตเมตตา เพราะมนุษย์รักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น ดังนั้น การทารุณกรรมสัตว์ทุกรูปแบบ ด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตามล้วนแล้วแต่ขัดต่อหลักเมตตาธรรมทั้งสิ้น
Download |