หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาพจน์ สุวโจ (พยัคฆ์พิทยางกูร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๘ ครั้ง
การประเมินหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรม : ศึกษากรณีนักธรรมชั้นตรี (๒๕๔๕)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาพจน์ สุวโจ (พยัคฆ์พิทยางกูร) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีรัตนดิลก
  ผศ.อ้อมเดือน สดมณ๊
  ดร.สุรพล สุยะพรหม
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕
 
บทคัดย่อ

                วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรม : ศึกษากรณีนักธรรมชั้นตรี ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แยกเป็น ๒ ประเด็นคือ

                ๑. ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรหรือหนังสือแบบเรียนสำหรับนักธรรมชั้นตรี ในด้านประวัติความเป็นมา จุดมุ่งหมาย เนื้อหา และคัมภีร์อ้างอิง

                ผลจากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า (๑) ด้านประวัติความเป็นมา หนังสือแบบเรียนส่วนใหญ่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และเกิดขึ้นก่อนการจัดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี (๒) ด้านจุดมุ่งหมาย หนังสือแบบเรียนทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อเป็นคู่มือศึกษาพระธรรมวินัยเบื้องต้นสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ (๓) ด้านเนื้อหา เป็นการเรียบเรียงหนังสือแบบเรียนในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ง่ายแก่ความเข้าใจของผู้ศึกษาในชั้นต้น (๔) ด้านคัมภีร์อ้างอิง ข้อมูลทั้งหมดนำมาจากหลักฐานชั้นปฐมภูมิ โดยจัดระเบียบและเรียบเรีบงใหม่ ให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย

                ๒. ประเมินหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โดยใช้รูปแบบการประเมิณซิปป์ (CIPP Model) ประเมินประสิทธิภาพของหลักสูตร (๑) ด้านบริบาท ได้แก่วัตถุประสงค์ของหลักสูตร โครงสร้างของหลักสูตร และเนื้อหาของหลักสูตร (๒) ด้านปัจจัยเบื้องต้น ได้แก่ คุณลักษณะของอาจารย์ คุณสมบัติของผู้เข้ามาศึกษา วัสดุการศึกษา ตำราเรียน และสถานที่เรียน (๓) ด้านกระบวนการ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และการบริหารหลักสูตร (๔) ด้านผลผลิตของหลักสูตร ได้แก่ คุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษา

                โดยมีประชากรทั้งหมด ๓๐๘ รูป ประกอบด้วยเจ้าสำนักศาสนศึกษาจำนวน ๑๓ รูป ครูสอน จำนวน ๓๐ รูป นักเรียน จำนวน ๑๒๐ รูป ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร จำนวน ๑๒ รูป ผู้บริหารหลักสูตร จำนวน ๑๘ รูป และนิสิต จำนวน ๑๑๕ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ แบบสอบถามที่สมบูรณ์ ๑๙๙ ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ยและค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน

                ผลการศึกษาวิจัยสรุปได้ดังนี้

                (๑) ด้านบริบท วัตถุประสงค์ของหลักสูตรขาดความจัดเจน โครงสร้างของหลักสูตรเน้นด้านทฤษฎีมากกว่าด้านปฏิบัติ และเนื้อหาของหลักสูตรไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

                (๒) ด้านปัจจัยเบื้องต้น คุณลักษณะของอาจารย์ผู้สอน มีความเป็นกัลยาณมิตรและเป็นแบบอย่างที่ดี แต่ขาดด้านเทคนิคการสอน ผู้เข้ามาศึกษามีความแตกต่างกันด้านอายุและพื้นฐานการศึกษา สถานที่เรียนมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและเอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนแต่ขาดอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย

                (๓) ด้านกระบวนการ การจัดการเรียนการสอนมีความเหมาะสมปานกลาง เพราะส่งเสริมผู้เรียนให้เป็นศาสนทายาทที่ดี ควรจัดกิจกรรมการสอนนอกสถานที่ เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลไม่สอดคล้องกับความต้องการของครูและนักเรียนควรพิจารณาปรับปรุงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

                (๔) ด้านผลผลิต ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพค่อนข้างต่ำ เพราะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ที่เรียนมาให้คนอื่นเข้าใจได้ ไม่สามารถประยุกต์หลักธรรมวินัยให้เหมาะสมแก่สมณภาวะได้ ฉะนั้น จึงควรพิ่มวิชาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความศรัทธาที่จะรักษาสถาบันพระพุทธศาสนา

Download : 254505.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕