วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาจีวรในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้จีวรในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ(๓) เพื่อศึกษาประโยชน์ของการใช้จีวรในพระพุทธศาสนาเถรวาท ผลการวิจัยพบว่า
จีวรในพระพุทธศาสนาเถรวาทไว้ดังนี้ คำว่า จีวร หมายถึง เครื่องนุ่งห่มที่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาเถรวาทใช้นุ่งห่มประกอบด้วย สังฆาฏิ อุตตราสงค์ และอันตรวาสก ความหมายนี้ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งมีความหมายที่สอดคล้องกันกับอัฏฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ คำว่า จีวร จีวรขันธกะ ตอนว่าด้วยจีวร ที่ชื่อว่า จีวร เพราะมีเนื้อหาว่าด้วยจีวรเป็นส่วนมาก คำว่า จีวร โดยปกติหมายถึงผ้า ๓ ผืน อันตรวาสก ผ้านุ่ง อุตตราสงค์ ผ้าห่ม และสังฆาฏิ ผ้าห่มซ้อนนอก ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ รับถวายจากคหบดีได้ แต่คำว่า จีวร ในจีวรขันธกะนี้ หมายเอาทั้งผ้าที่ยังไม่สำเร็จเป็นจีวร เช่น ผ้าปาวาร ผ้าไหม และผ้าโกเชาว์ที่หมอชีวกน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาค ผ้าไตรจีวรที่ทำสำเร็จแล้ว และผ้าอื่นๆ คือ ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ผ้าปิดฝี ผ้าเช็ดปาก และผ้าบริขารอื่นอีก จีวร คือ เครื่องนุ่งห่มที่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาใช้นุ่งห่มประกอบด้วย สังฆาฏิ อุตตราสงค์ และอันตรวาสก ความหมายนี้มีปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งมีความหมายที่สอดคล้องกันกับอัฏฐบริขารของพระภิกษุ ยังพบความหมายอีกอย่างก็คือ คำว่า ไตรจีวร ผ้าสำหรับห่มของพระภิกษุและสามเณร โดยห่มผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ในจำนวน ๓ ผืน อันได้แก่ สังฆาฏิ ผ้าทาบ อุตตราสงค์ ผ้าห่ม อันตรวาสก ผ้านุ่งหรือสบง ในความหมายนี้มี พระอุปัชฌาย์และผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนารู้จักกันดี คือในการบรรพชาและอุปสมบท จีวร เป็นคำใช้เรียกผ้าห่มของภิกษุ คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า จีวรคือผ้าห่ม สบงคือผ้านุ่ง และสังฆาฏิคือผ้าพาดหรือผ้าทาบ ดังนั้น จีวรเป็นปัจจัยเครื่องนุ่งห่มหรืออัฏฐบริขารของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวนปัจจัย ๔ อย่าง
บทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้จีวรในพระพุทธศาสนาเถรวาทไว้ดังนี้ จากการศึกษาบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้จีวร ซึ่งเป็นการใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภคของพระภิกษุสงฆ์ ที่มีอยู่ด้วยกัน ๔ อย่าง ที่ต้องมีการพิจารณาก่อนการใช้สอย ได้แก่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค คือ (คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร) ในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยจะนำเสนอเฉพาะแต่จีวร ดังที่มีปรากฏในพระวินัยปิฎก ที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและข้อปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์เกี่ยวกับจีวร ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงได้วางกฏเกณฑ์และบทบัญญัติเป็นสิกขาบท ที่ทรงห้ามหรือทรงอนุญาตให้ใช้สอยเครื่องบริขารเหล่านั้นได้ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงวางข้อกำหนดเกี่ยวกับ จีวรทรงอนุญาตให้ภิกษุมีไตรจีวร และทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากผู้มีศรัทธานำมาถวาย อีกหลายชนิด และไม่ทรงอนุญาตการใช้จีวรอีกหลายชนิดเช่นกัน แน่นอนทีเดียวว่าจะต้องมีกรณีที่พวกภิกษุปฏิบัติผิดระเบียบเกี่ยวกับจีวรกันมาก พระพุทธองค์ทรงกำหนดขอบเขตไว้ดังนี้ คือ (๑) บทบัญญัติที่ทรงอนุญาตให้ใช้จีวร (๒) บทบัญญัติที่ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้จีวร
ประโยชน์ของจีวรในด้านพระศาสนา พอสรุปได้ ๒ อย่างดังนี้คือ (๑) เพื่อการสืบทอดพระวินัย วิธีการรักษาสืบทอดพระวินัยที่ดีที่สุดก็คือ การศึกษาเรียนรู้และการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตรงตามพระวินัยที่พุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ ให้พระวินัยอยู่ในตัวของพระภิกษุ ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการนุ่งห่มจีวรหรือการโคจรบิณฑบาต จะต้องไม่ล่วงละเมิดสิกขาบททั้งหลาย และ(๒) เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เกี่ยวกับนุ่งห่มจีวรในขณะบิณฑบาตของภิกษุสามเณรหรือว่าเป็นการออกไปประกาศพระพุทธศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม การออกไปแสดงตัวให้ชาวบ้านได้เห็นถึงวิถีการเป็นอยู่ของนักบวชที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย มักน้อย สันโดษ เป็นคนเลี้ยงง่าย มีอินทรียสังวร และเมื่อมีโอกาสก็ได้แสดงธรรมโปรดชาวบ้าน ให้ตั้งอยู่ในความดี ไม่ทำชั่ว ทำจิตให้บริสุทธิ์
Download |