วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์การศึกษา คือ (๑) ศึกษากิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) ศึกษาหลักธรรมเพื่อการหลุดพ้นกิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาทและ (๓) ศึกษาวิธีการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การหลุดพ้นกิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาท ผลการวิจัยพบว่า
การศึกษากิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า กิเลสเป็นเครื่องทำให้ใจเกิดความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ซึ่งกิเลสมีอยู่ ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ แยกออกเป็นกิเลส ๓ อย่างคือ กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างละเอียด กิเลสเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน และอวิชชา ตามธรรมดากิเลสนั้นมีคุณน้อย มีโทษมาก และมีความร้ายแรง มนุษย์หากไม่ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องกำกับก็จะไม่สามารถรู้เท่าทันกิเลสได้ และยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่สามารถบรรลุมรรคผล สำหรับนักปฏิบัติธรรมจะพิจารณากิเลสเป็นตัวการสำคัญที่คอยขวางกั้นไม่ให้มนุษย์บรรลุถึงความดีหรือความจริงอันสูงสุด
หลักธรรมเพื่อการหลุดพ้นกิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า ตามหลักพระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่นำมาใช้ปฏิบัติอยู่อย่างมากมายหลักธรรมล้วนแต่เชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดีหลักธรรมที่เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องมืออันเป็นเหตุแห่งการตัดกิเลส แล้วก้าวสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้ปฏิบัติจึงควรนำหลักธรรมเหล่านี้ไปใช้ในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความหลุดพ้นจากความทุกข์ได้นั่นเอง
วิธีการปฏิบัติตนเพื่อนำไปสู่การหลุดพ้นกิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า ควรดำรงชีวิตของตนที่ตั้งอยู่ในศีลเป็นเบื้องต้น หลักธรรมที่เกื้อหนุนให้เกิดสมาธิ คือ หลักโพธิปักขิตยธรรม ๓๗ ประการ โดยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเพื่อประหานกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างละเอียด ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิและเข้า สู่ญาณที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ มี ๑๖ ประการ ซึ่งสามารถทำให้กิเลสเบาบางได้มากตั้งแต่ญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ เป็นต้นไป จึงสามารถกำจัดกิเลสได้ด้วยปัญญาจึงจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ทำให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากกิเลส ได้บรรลุมรรคผล ตั้งแต่พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และนิพพาน ตามลำดับ
Download |